เมื่อกดสั่งสินค้าจากเว็บอีคอมเมิร์ซอย่าง Lazada และ Shopee คำถามที่ผุดขึ้นในหัวของหลายคนคือ ทำไม “ค่าส่งสินค้าจากจีน” ถึงถูกมาก หลายครั้งถูกยิ่งกว่าสั่งซื้อจากผู้ค้าไทยเสียอีก ทั้งที่เป็นการส่งข้ามประเทศ
ด้วยเหตุนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” จึงได้สัมภาษณ์ 2 ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซไทย ได้แก่ “ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” ผู้คลุกคลีในวงการอีคอมเมิร์ซไทยและเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ตลาดดอทคอม เว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ของไทย และ “ตฤณ วุ่นกลิ่นหอม” (ชื่อเดิม ณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม) นายกสมาคมการค้าดิจิทัลไทยและเคยทำงานในมูลนิธิแจ๊คหม่า อาลีบาบา ก็พบสาเหตุสำคัญ 3 ประการที่ทำให้ “ค่าส่งสินค้าจากจีน” ต่ำมาก ดังนี้
สาเหตุที่ 1 ผู้ค้าจีนใช้คลังสินค้าไทยในเขตปลอดภาษี
ภาวุธเล่าว่า สินค้าจากจีนจะส่งมาไทยเป็น “ตู้สินค้าใหญ่” ทางรถบรรทุก รถไฟและเรือแบบเหมาค่าส่งรวม ภายในตู้เหล่านี้มีสินค้าจำนวนนับหมื่นนับแสนชิ้น โดยเมื่อแยกค่าส่งเป็นรายชิ้นแล้วจึงมีราคาต่ำมาก
สินค้าเหล่านี้จะถูกส่งมาพักใน “คลังสินค้าในเขตปลอดอากร” (Free Zone Warehouse) ของไทย เสมือนว่าสินค้าที่พักยังคงอยู่นอกประเทศ ไม่มีการจัดเก็บภาษี เหตุผลที่ไทยมีคลังสินค้าเช่นนี้ ภาวุธเล่าว่า เพื่อเป็นจุดพักสินค้าสำหรับส่งต่อไปยังประเทศที่สาม อย่างกัมพูชาหรือเวียดนามต่อ แต่ผู้ค้าจีนใช้ช่องทางกฎหมายหนึ่งที่ระบุไว้ว่า หากสินค้านำเข้ามีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ไม่ต้องเสียภาษีขาเข้า
ด้วยเหตุนี้ ผู้ขายจีนจึงเบิกสินค้าจากคลังออกมาไม่เกิน 1,500 บาทในแต่ละครั้ง เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีดังกล่าว ซึ่งของที่คนไทยสั่งในเว็บอีคอมเมิร์ซส่วนใหญ่ก็ไม่เกินหลักพันอยู่แล้ว และการได้ที่พักสินค้าตามจุดต่าง ๆ ในไทยยังช่วยให้เวลาจัดส่งรวดเร็วอย่างมาก
สาเหตุที่ 2 ไทยรับผิดชอบค่าส่งมากกว่าจีน
เรื่องนี้อาจคาดไม่ถึงว่า ทำไมไทยรับผิดชอบค่าส่งในสัดส่วนที่มากกว่าจีน ในเมื่อจีนส่งสินค้ามาที่ไทยมากกว่า
ตฤณ นายกสมาคมการค้าดิจิทัลไทย เล่าว่า ในสมัยก่อน ช่วงที่เกิดองค์การ “สหภาพไปรษณีย์สากล” หรือ Universal Postal Union มาไม่นาน มีการตกลงร่วมกันว่า ประเทศที่เจริญมากกว่ารับผิดชอบ “ส่วนค่าขนส่ง” มากกว่าประเทศที่เจริญน้อยกว่า ซึ่งไทยกับจีนได้เซ็นข้อตกลงดังกล่าวตั้งแต่ปี 2512
ในสมัยนั้น จีนถือเป็นประเทศยากจน ระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา และโทรศัพท์ ยังไม่ครอบคลุมเท่าไทย จึงกลายมาเป็นข้อตกลงที่ไทยจ่ายส่วนค่าส่งในสัดส่วนมากกว่าจีน และยังไม่ได้ถูกปรับเปลี่ยนจนถึงปัจจุบัน
สาเหตุที่ 3 รัฐจีนช่วยค่าใช้จ่ายพักสินค้า
สำหรับผู้ค้าไทย ก่อนจะส่งไปต่างประเทศ ก็ต้องเช่าคลังสินค้าก่อน เพื่อรอรอบส่งทางเครื่องบินหรือรถบรรทุก ค่าใช้จ่ายก็คิดตามระยะเวลาฝากและจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ ยิ่งจำนวนตู้มากและฝากนาน ก็ยิ่งเสียเงินมากขึ้นตามไปด้วย
ขณะที่จีนนั้น ตฤณให้ข้อมูลว่า รัฐบาลจีน ช่วยอุดหนุนรายจ่ายส่วนนี้ โดยโรงงานจีนสามารถนำสินค้าไปตั้งใน “พื้นที่พักรอสินค้า” ก่อนทำพิธีศุลกากร หรือที่เรียกว่า “Cross-Border E-Commerce Park” ซึ่งในพื้นที่นี้ รัฐบาลช่วยสนับสนุนตั้งแต่ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าฝากสินค้า โดยบางสินค้าที่รัฐบาลต้องการกระตุ้นการส่งออก ก็จะไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนค่าฝาก
จะเห็นได้ว่า จากสาเหตุ 3 ข้อนี้ การใช้คลังสินค้าไทยในเขตปลอดภาษี ข้อตกลงทางไปรษณีย์สากลที่ไทยรับผิดชอบค่าส่งมากกว่า รวมถึงรัฐบาลจีนมีการอุดหนุนค่าพักสินค้าในประเทศ จึงทำให้ต้นทุนการส่งของจีนต่ำกว่าไทยนั่นเอง
สำหรับผู้ประกอบการไทย เมื่อต้องรับมือสินค้าจีนราคาถูกที่ทะลักเข้ามา การจะแข่งกันทางราคาอาจอยู่ในสถานะเป็นรอง เพราะจีนผลิตออกมาจำนวนมาก ขายให้ทั้งโลก และยังมีสายป่านยาว จึงทำให้สินค้าที่ไม่ได้มีการแปรรูปอย่างเหล็ก หรือสินค้าเกษตรไทย ถูกจีนและประเทศเพื่อนบ้านชิงส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ
ดังนั้น ไทยอาจจำเป็นต้องสร้างความแปลกใหม่ขึ้น มี “เอกลักษณ์” ของตัวเองในตัวสินค้า เพื่อสร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่า ซึ่งทำได้ตั้งแต่การทำบรรจุภัณฑ์ใหม่ การแปรรูปสินค้า อย่างแทนที่จะส่งออกทุเรียนสดอย่างเดิม ก็แปรรูปเป็นขนมทุเรียน คุกกี้ทุเรียน น้ำพริกทุเรียน
หรือเปลือกทุเรียนที่มักทิ้งกัน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร สามารถนำมาแปรรูปเป็นเปลือกทุเรียนผง ทดแทนแป้งข้าวสาลีได้ ช่วยเพิ่มคุณค่าเส้นใยอาหาร และยิ่งหากใส่เรื่องราวความเป็นไทย จุดขายทางโภชนาการเข้าไปในตัวสินค้าด้วยแล้ว ก็จะทำให้สินค้านี้ดูน่าสนใจ แตกต่างจากคนอื่น และอาจเป็นที่นิยมในหมู่ลูกค้าชาวจีนก็เป็นได้