ส่งผลกระทบกับมากกว่า 20 กลุ่มอุตสาหกรรม จากทั้งหมด 46 อุตสาหกรรมแล้ว เห็นได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวต่อเนื่อง 1 ปี แล้ว ซึ่งสะท้อนว่าการผลิตสินค้าในประเทศลดลงหากไม่ดำเนินการแก้ไขปล่อยไว้อย่างนี้ต่อไปอีก ผู้ประกอบการอาจเปลี่ยนไปเป็นผู้นำเข้าสินค้าราคาที่ต้นทุนต่ำกว่าแทนการผลิตเอง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบเอสเอ็มอี
การที่จีนผลิตสินค้าได้ในราคาถูกเนื่องจากได้เปรียบเชิงปริมาณที่ผลิตจำนวนมาก (Mass Production) ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยลดลง เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) สินค้าที่ผลิตในจีนจึงมีราคาถูก
ในช่วงที่เศรษฐกิจฝืดเยี่ยงนี้ สินค้าราคาถูกที่นำเข้าจากจีน จึงเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคของไทยหันไปเลือกซื้อมากขึ้นผ่านช่องทางและแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น สินค้าออนไลน์ และในระยะยาว หากผู้ประกอบการไทยแข่งขันไม่ได้ ต้องปิดกิจการหรือปิดโรงงาน แรงงานไทยก็จะตกงานมากขึ้นตามไปด้วย
รัฐบาลควรส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ให้สามารถผลิตสินค้าคุณภาพสูงเพื่อแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากจีนได้ เพิ่มเติมจากมาตรการที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ตรวจสอบคลังสินค้านำเข้า จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7 % จากการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท รวมทั้ง ปรับเงื่อนไขการใช้สิทธิประโยชน์เขตปลอดอากร(ฟรีโซน) เพิ่มการตรวจจับสินค้าสำแดงเท็จที่นำเข้าผ่านด่านศุลกากรให้ได้ 100% จากเดิมที่สุ่มตรวจเพียง 30% ของรายการสินค้านำเข้า
หรือเพิ่มมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ เหมือนรัฐบาลอินโดนีเซีย ที่ประกาศเก็บภาษีกับสินค้านำเข้า (Safeguard Duties) เพื่อปกป้องผู้ประกอบการธุรกิจ SME รายเล็ก เช่น รองเท้า สินค้าเซรามิก โดยเบื้องต้นจะเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ผลิตจากจีนอยู่ที่อัตรา 100-200 %
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการอาจจะต้องปรับตัวผลิตสินค้าให้มีคุณภาพเพื่อแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากจีนได้ เพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เพิ่มบริการหลังการขาย ให้บริการที่ครบวงจรตามที่ลูกค้าต้องการ แทนการแข่งขันด้านราคา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยอยู่รอดได้ ท่ามกลางสงครามสินค้าราคาถูก และยังจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย เพราะการที่ Temu บุกตลาดไทยต้องส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายย่อยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน