ไตรมาสแรกของปี 2024 มีโรงงานปิดตัวลงไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง กระทบการจ้างงานกว่า 42,000 ตำแหน่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก เราจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ เพราะถือเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย
ผ่านไปแล้ว 1 สัปดาห์ยังไม่เห็นรัฐบาลมีแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 22 อุตสาหกรรมไทยที่ได้รับผลกระทบกรณีสินค้าจีนเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ประกอบด้วย เครื่องจักรกลโลหการ, เครื่องจักรกลการเกษตร, เหล็ก, อะลูมิเนียม, หล่อโลหะ, พลาสติก, ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, เฟอร์นิเจอร์, หัตถกรรมสร้างสรรค์, อาหารเสริมอาหาร, ต่อเรือ ซ่อมเรือเครื่องนุ่งห่มเทคโนโลยีชีวภาพ, แก้ว (อ้างอิงกลุ่มอุตสาหกรรมจาก ส.อ.ท.) ท่ามกลางความกังวลของผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้ ยอดขายชะลอตัว 20-30% ส่วนหนึ่งเพราะผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าราคาถูกกว่าและกำลังซื้อลดลง
อุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิม และเป็นการรับจ้างผลิต (OEM) ต้องมีการปรับตัวไปสู่โครงการการผลิตสมัยใหม่ไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve & Industry Transformation) ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า เครื่องมือแพทย์ พัฒนาเอสเอ็มอีให้เข้าถึงเทคโนโลยีหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมสีเขียว มุ่งสู่ Carbon Neutrality & Climate Change เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในสภาวะวิกฤติขาดสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจขณะนี้
เพราะตั้งแต่ต้นปี 2023 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2024 มีโรงงานปิดตัวลงไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง กระทบการจ้างงานกว่า 42,000 ตำแหน่ง ส่วนใหญ่จะเป็นในกลุ่มการผลิตเครื่องหนัง การผลิตยาง อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมไม้ และการผลิตเครื่องจักรโรงงานขนาดใหญ่ ขณะที่ตัวเลขการเปิดตัวโรงงานใหม่ชะลอตัวลงเหลือเพียง 50 โรงงานต่อเดือน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินนโยบายเพื่อปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในบางกลุ่มสินค้าโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ที่เป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นปีที่มาผ่านมา ออเดอร์ติดลบจาก 20% เพิ่มเป็น 30% ทำให้บางโรงงานต้องปรับลดกำลังการผลิต ลดการจ้างงานจากเดิมหยุด 2 วัน ก็ปรับมาหยุด 3 วันต่อสัปดาห์ บางบริษัทเข้าโครงการจ่าย 75% เหมือนช่วงวิกฤติโควิด-19 หากเป็นแบบนี้ต่อไปจะส่งผลกระทบเอสเอ็มอีรายเล็กๆ ที่มีเงินหมุนเวียนสำรองไว้ไม่เกิน 3- 6 เดือน
เมื่อนั้นการปิดตัวโรงงานก็จะเพิ่มมากขึ้น ภาครัฐควรจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไปสู่อุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงอยู่รอดได้ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์, หุ่นยนต์, ชิ้นส่วนอากาศยาน, ชิ้นส่วนระบบรางและอาฟเตอร์มาเก็ต แม้ว่าอาจจะเริ่มต้นช้าไปแล้วแต่ก็ดีกว่าไม่ได้เริ่มต้น