สื่อญี่ปุ่นชี้ อาเซียนกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับปัญหาสินค้าจีนราคาถูกทะลัก 'อินโดฯ - มาเลย์-ไทย' เริ่มออกมาตรการตั้งรับ แต่ก็ต้องระวังการรักษาสมดุลเศรษฐกิจในฐานะที่จีนเป็น "นักลงทุน - คู่ค้ารายใหญ่"
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่กำลังเผชิญการล้นทะลักของสินค้าราคาถูกจาก “จีน” ตั้งแต่เครื่องนุ่งห่ม รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน และกำลังส่งผลกระทบต่อธุรกิจท้องถิ่น ทว่าสิ่งที่ทำให้อาเซียนต่างไปจากสหรัฐ และยุโรปที่กำลังใช้มาตรการกำแพงภาษีก็คือ สำหรับอาเซียนแล้ว จีนยังมีฐานะเป็น “นักลงทุนรายใหญ่” ที่อาเซียนต้องรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจอย่างระมัดระวังอีกด้วย
สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชียรายงานว่าหลายประเทศในอาเซียนกำลังเจอภาวะที่ยากลำบากในการรักษาสมดุลนี้
เคอร์เนียดี เอกา มุลยานา เป็นหนุ่มอินโดนีเซียวัย 26 ปีที่เพิ่งถูก “เลิกจ้าง” เป็นครั้งที่สอง จากโรงงานสิ่งทอในเมืองบันดุง จ.ชวาตะวันตก เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา หลังจากทำงานได้ 2 ปี โดยก่อนหน้านั้นเจ้าตัวเคยถูกเลย์ออฟจากโรงงานสิ่งทอที่อื่นมาก่อน
ผู้จัดการโรงงานดังกล่าวให้เหตุผลว่า ยอดขาย และรายได้ของโรงงานลดลงมากนับตั้งแต่แพลตฟอร์มโซเชียลคอมเมิร์ซชื่อดัง TikTok Shop เข้ามาเปิดตัวในอินโดนีเซียเมื่อปี 2564 และขายสินค้าราคาถูกที่ผลิตจากจีนผ่านทางแพลตฟอร์มวิดีโอนี้
นับตั้งแต่ต้นปี 2567 มีโรงงานสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้าในอินโดนีเซียเลิกจ้างพนักงานรวมกันแล้วราว 49,000 คน ท่ามกลางโรงงานหลายแห่งที่ปิดตัวลงในจังหวัดบันเต็น ชวาตะวันตก และชวากลาง
สถานการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การส่งสัญญาณของรัฐบาล เมื่อเดือนมิ.ย. โดยซัลคิฟลี ฮาซัน รัฐมนตรีพาณิชย์อินโดนีเซียเปิดเผยว่า รัฐบาลมีแผนปรับขึ้นภาษีโดยเฉลี่ยมากกว่า 100% ไปจนถึงระดับสูงสุดที่ 200% ในสินค้านำเข้ากลุ่มสิ่งทอ และอาจพิจารณาขยายให้ครอบคลุมไปถึงสินค้ากลุ่มอื่น เช่น เซรามิก เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องสำอาง และเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วย เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศที่ถูกตีตลาดอย่างหนักจนทำให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นหลายรายต้องปิดกิจการลง
ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนก็มีการขยับตัวเพื่อรับมือกับการทะลักของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศโดยเฉพาะที่มาจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดย “มาเลเซีย” ประกาศขึ้นภาษีขาย 10% สำหรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศทางออนไลน์ที่มีราคาไม่ถึง 500 ริงกิต (ราว 3,900 บาท) ซึ่งแต่เดิมเคยได้รับการยกเว้น ส่วน “ประเทศไทย” ขยายภาษีแวต 7% ให้ครอบคลุมสินค้านำเข้าที่ราคาไม่ถึง 1,500 บาท
นิกเคอิ เอเชีย ระบุว่าสำหรับรัฐบาลหลายประเทศในอาเซียนแล้ว การทะลักเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากจีนเป็นเสมือนกับภาวะที่ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก”
ในขณะที่ผู้ค้าปลีก และผู้ผลิตในประเทศต่างขอความช่วยเหลือจากผลกระทบที่พวกเขามองว่าเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม แต่รัฐบาลเองก็ต้องดึงดูดบริษัทจีนให้เข้ามาลงทุนภาคการผลิตในประเทศด้วย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมไฮเทค
การรักษาสมดุลของลำดับความสำคัญกลายเป็นเรื่องยากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในจีนทำให้การส่งออกของอาเซียนลดลง สวนทางกับบริษัทจีนที่ต้องระบายสินค้าคงคลังส่วนเกินออกไปในราคาถูก ส่งผลให้ความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างอาเซียนกับจีนขยายวงกว้างขึ้น และยิ่งกระตุ้นให้รัฐบาลต้องดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องการนำเข้า
จากการคำนวณของทีมนักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโกลด์แมน แซคส์ พบว่า ในปี 2566 อาเซียน และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่นำเข้าสินค้าจากจีนมากถึงราว 1 ใน 3 จากการส่งออกทั้งหมดของจีน แม้ว่าประเทศเหล่านี้จะมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันแค่ 1 ใน 10 ของจีดีพีโลกก็ตาม
สำหรับไทยแล้ว จีนเป็นประเทศที่ไทยส่งออกสินค้าไปมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐ และเป็นประเทศที่นำเข้าสินค้ามากที่สุดเป็นเบอร์ 1 โดยมีสัดส่วนเกือบ 25% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด และในปี 2566 ไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นเป็น 3.66 หมื่นล้านดอลลาร์ จาก 2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2563
ด้านมาเลเซียขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นเช่นกันในช่วงดังกล่าว จาก 3.1 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มเป็น 1.42 หมื่นล้านดอลลาร์ ในขณะที่อินโดนีเซียยังสามารถรักษาสถานะเกินดุลการค้ากับจีนได้ที่ 2 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว จากการส่งออกสินค้าในกลุ่มโลหะ แต่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 อินโดนีเซียขาดดุลการค้ากับจีนไป 5 พันล้านดอลลาร์ จากการค้าที่ไม่ใช่น้ำมันและก๊าซ
ชาลส์ ออสติน จอร์แดน นักวิเคราะห์อาวุโสด้านนโยบายสหรัฐจากบริษัทโรเดียม กรุ๊ป กล่าวว่า การค้าไม่สมดุลที่ขยายวงขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากบริษัทจีน และคู่ค้าต่างชาติที่ย้ายฐานการผลิต และประกอบจากจีนไปยังอาเซียน เพื่อลดความตึงเครียดทางการค้ากับประเทศในตะวันตกรวมถึงปัจจัยอื่นๆ โดยจีนมองการลงทุนเหล่านี้ว่าเป็นกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยง
การย้ายซัพพลายเชนออกไปนี่เองที่ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าวัตถุดิบ และสินค้าขั้นกลางจากอาเซียนลดลง และกลายเป็นปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นแทน ส่งผลให้ในไตรมาสแรกของปี 2567 สหรัฐได้แซงจีนขึ้นเป็นตลาดที่กลุ่มอาเซียนส่งออกสินค้าไปมากที่สุดด้วยมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์
ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร HSBC การปรับเปลี่ยนนี้มีประโยชน์อย่างมากในแง่การปรับสมดุลการค้าโลก ผลจากการค้ากับจีนทำให้อิทธิพลของอาเซียนในการค้าโลกเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน แม้ว่าอาเซียนจะขาดดุลกับจีนเพิ่มขึ้นจาก 8 หมื่นล้านดอลลาร์ก่อนช่วงโควิด ไปเป็นเกือบ 1.15 แสนล้านดอลลาร์ในปัจจุบันก็ตาม