สินค้าจีนตีตลาดไทยเพิ่มขึ้น สร้างความกังวลต่อผู้ประกอบการ SMEs ไทย เพราะไม่สามารถแข่งขันต้นทุนได้เป็นอย่างยิ่ง โดยพบสินค้าจีนเพิ่มขึ้น จำนวน 22 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แต่หวังว่าคณะกรรมการฯ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม จะมีวิธีรับมือ
ผลกระทบกรณีสินค้าจีนเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยทั้งช่องทางการนำเข้าปกติ รวมถึงการนำเข้าผ่านช่องทางการค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น สร้างความกังวลต่อผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ที่ไม่สามารถแข่งขันต้นทุนได้เป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้ส่วนแบ่งรายได้ตลาดในประเทศและตลาดในอาเซียน และการส่งออก ได้รับผลกระทบหลายระลอก ทั้งสภาพคล่อง ขายสินค้าไม่ได้ตามเป้า รายได้ลดลง บางรายอาจจะกระทบมากจนถึงขั้นอาจจะต้องปิดกิจการ
โดยในปี 2566 ไทยและจีนมีมูลค่าการค้าร่วมกัน 104,964 ล้านดอลลาร์ ไทยส่งออกไปจีน 34,164 ล้านดอลลาร์ และไทยนำเข้าจากจีน 70,800 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 36,635 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ข้อมูลการส่งออกไปตลาดอาเซียน 9 ประเทศ ปี 2566 มีมูลค่า 66,847 ล้านดอลลาร์ เทียบกับปีก่อนหน้าติดลบ 7.1% ติดลบครั้งแรกในรอบ 3 ปี นับจากปี 2563 ปีติดลบ 11.75%
ความกังวลไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะ SMEs ที่ไม่สามารถแข่งขันต้นทุนได้เท่านั้น แต่ยังรวมทั้งกังวลเรื่องคุณภาพสินค้าโดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิด ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม (สมอ.)
นอกจากนี้ ยังรวมถึงอุตสาหกรรมที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหามาตรการเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหา ผลจากกติกาใหม่ของโลก ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมดั้งเดิมอย่างน้อย 22 อุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างหนัก
โดยพิจารณาจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ พบว่ามีสินค้าที่นำเข้าจากจีนที่มีมูลค่าการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566 จนถึง เดือนพ.ค. 2567 จำนวน 22 กลุ่มอุตสาหกรรม (อ้างอิงกลุ่มอุตสาหกรรมจาก ส.อ.ท.) ประกอบด้วย เครื่องจักรกลโลหะการ, เครื่องจักรกลการเกษตร, เหล็ก, อลูมิเนียม, หล่อโลหะ, พลาสติก,ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เฟอร์นิเจอร์, หัตถกรรมสร้างสรรค์, อาหารเสริมอาหาร, ต่อเรือ ซ่อมเรือ, เครื่องนุ่งห่ม, เทคโนโลยีชีวภาพ, แก้วและกระจก, รองเท้า, เครื่องสำอาง, เคมี, แกรนิตและหินอ่อน, เซรามิก, ปูนซิเมนต์, อัญมณี
ได้แต่หวังว่าคณะกรรมการอำนวยการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมที่ตั้งขึ้น 4 คณะทำงาน จะสามารถยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อนาคต (S-Curve & Industry Transformation) รองรับการเปลี่ยนผ่านภาคอุตสาหกรรม สู่ยานยนต์ไฟฟ้า และเครื่องมือแพทย์ ตลอดจนพัฒนาเอสเอ็มอีให้เข้าถึงเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่เหมาะกับกิจการและประเภทอุตสาหกรรม
ผลักดันอุตสาหกรรมสีเขียว ร่วมขับเคลื่อนภารกิจ End of Waste พัฒนาระบบ และกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการกากอุตสาหกรรม ผลักดัน และขับเคลื่อน Circular Material Hub, Circular Economy Model Sandbox ส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยมุ่งสู่ Carbon Neutrality & Climate Change แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ 22 อุตสาหกรรมไทยให้อยู่รอดไปได้ เพราะถ้า 22 อุตสาหกรรมรอดพ้นวิกฤติไปได้ คนตัวเล็กๆ ก็จะรอดในสภาวะวิกฤติไปได้เช่นกัน