ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผย รายงานเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (East Asia and the Pacific Economic) ฉบับอัปเดตเดือนเมษายน รวมทั้ง รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค และ ความยากจนของประเทศไทย (Macro and Poverty Outlook - MPO) เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา มีเนื้อหาน่าสนใจ โดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ที่เวิลด์แบงก์ปรับลดตัวเลขประมาณการณ์การเติบโตของจีดีพีในปีนี้ มาอยู่ที่ 2.8% จากเดิมประเมินไว้ที่ 3.2% นอกจากนี้ ยังชี้ถึง “จุดอ่อน” ของประเทศไทยที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวช้าที่สุดเมื่อเทียบกับชาติอื่นๆในอาเซียน
รายงานอัปเดตเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกฉบับเดือนเมษายน 2567 หรือ East Asia and the Pacific Economic Update April 2024 จัดทำขึ้นปีละ 2 ครั้ง เพื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจทั้งระดับภูมิภาคและรายประเทศ นอกจากนี้ ยังคาดการณ์และให้คำอธิบายว่าอะไรคือปัจจัยที่สามารถส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในระยะยาว
ส่วนรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาคและความยากจน (Macro and Poverty Outlook - MPO) ของประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยนั้น ยังตามหลังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยเติบโตในอัตราที่น่าผิดหวัง 1.9% ในปีที่ผ่านมา (2566) เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่อ่อนแอ และการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า
“การฟื้นตัวของประเทศไทยแตกต่างจากประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซียและฟิลิปปินส์ เนื่องจากมีความท้าทายจากภายนอกและภายใน อุปสงค์ภายนอกที่อ่อนแอส่งผลกระทบต่อการผลิต ในขณะที่งบประมาณที่ล่าช้ามีผลให้การลงทุนภาครัฐชะลอตัว” ส่วนหนึ่งของรายงานระบุ และชี้ให้เห็นจุดอ่อนของไทย
อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในปี 2567 นี้ โดยได้แรงหนุนจากการบริโภคของภาคเอกชน และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว แต่ทั้งนี้ ก็ยังมีความเสี่ยงสูงต่ออุปสงค์ภายในประเทศหากโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือ Digital Wallet (ที่เป็นโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท หรือ 286 ดอลลาร์สหรัฐให้คนไทยจำนวน 50 ล้านคน) เปิดตัว มาตรการนี้มีศักยภาพในการกระตุ้นการเติบโตของไทยราว 1% ในระยะสั้น แต่จะส่งผลให้ไทยมีภาระหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
รายงานของเวิลด์แบงก์ระบุว่า แม้เศรษฐกิจไทยปีนี้ (2567) จะมีแนวโน้มขยายตัวมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังอ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า (ในรายงานฉบับเดือนธ.ค.2566) เนื่องจากแนวโน้มการส่งออกและการลงทุนภาครัฐลดลง ทำให้เวิลด์แบงก์ปรับลดตัวเลขประมาณการณ์การเติบโตของจีดีพีไทยในปีนี้ ลงมาจากเดิมคาดไว้ว่าจะโต 3.2% เหลือเพียง 2.8% เท่านั้น
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยยังคงติดลบเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันและถือว่าลดลงเร็วสุดในอาเซียน อันเนื่องมาจากราคาพลังงานและราคาอาหารที่ลดลง รวมถึงมาตรการอุดหนุนด้านพลังงาน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว คาดว่าจะเป็นสองหัวจักรสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า (2568) ที่คาดว่าจะโต 3.0%
ส่วนหนึ่งของรายงานระบุว่า การใช้มาตรการทางการคลังเพื่อจัดการกับราคาพลังงานที่สูง แม้จะเป็นตัวแปรที่สนับสนุนการฟื้นตัว แต่ก็ทำให้การปรับภาวะการคลังให้เข้าสู่สมดุล หรือ (fiscal consolidation) ช้าลงเล็กน้อย อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยจึงยังอยู่ในระดับต่ำสุดในอาเซียน เพราะส่วนหนึ่งเป็นผลจากการอุดหนุนพลังงานอย่างต่อเนื่องและราคาพลังงานโลกที่ลดลง
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะกลาง ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายในการรับมือกับความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ในด้านต่างๆ ต่อไปนี้ คือ
การรับมือกับสังคมประชากรสูงวัย
การบริหารจัดการความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม
การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
และความจำเป็นในการสร้าง “กันชน” นโยบายใหม่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือผลกระทบจากภายนอก(shock) ในอนาคต
ศักยภาพที่สำคัญของไทยอยู่ที่การดำเนินการปฏิรูปโครงสร้าง และการระดมเงินทุนภาคเอกชนเพื่อการเติบโตของสังคมคาร์บอนต่ำ ผลกระทบที่เพิ่มขึ้นของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ต่อครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการลดความยากจนของสังคมไทย
เปรียบเทียบศักยภาพของไทยกับประเทศอื่นๆในอาเซียน
การฟื้นตัวของไทย ช้ากว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในกลุ่มอาเซียน เนื่องจากการผลิตและการลงทุนภาครัฐยังคงอ่อนแอ แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนจะแข็งแกร่งก็ตามที ภาพรวมในปี 2566 เศรษฐกิจของไทยขยายตัวเพียง 1.9% ลดลงจาก 2.5% ในปีก่อนหน้า (2565) ถือว่าไทยเติบโต “น้อยที่สุด” ในอาเซียน เทียบการเติบโตของ GDP ปี 2566 ระหว่างไทยกับบางประเทศในอาเซียนได้ ดังนี้
ไทย 1.9 %
อินโดนีเซีย 5.0 %
มาเลเซีย 3.7 %
ฟิลิปปินส์ 5.6 %
เวียดนาม 5.0 %
กัมพูชา 5.4 %
ลาว 3.7 %
เมียนมา 4.0 %
ส่วนคาดการณ์ปี 2567 แม้เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น แต่ก็ยังตามหลังประเทศอื่นๆอยู่ดี (ยกเว้นเมียนมา) ดังนี้
ไทย 2.8 %
อินโดนีเซีย 4.9 %
มาเลเซีย 4.3 %
ฟิลิปปินส์ 5.8 %
เวียดนาม 5.5 %
กัมพูชา 5.8 %
ลาว 4.0 %
เมียนมา 1.3 %
ค่าเงินบาทของไทยยังคงทรงตัวเนื่องจากบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุล แม้เงินทุนไหลออกอย่างต่อเนื่อง ในเดือนธันวาคม บัญชีเดินสะพัดของไทยกลับมาเป็นบวก โดยแตะ 5% ของ GDP โดยไตรมาส 4 มีการเกินดุล 1.2% ของ GDP
การที่สถานะของดุลบัญชีเดินสะพัดดีขึ้น เป็นผลมาจากการเกินดุลในการค้าสินค้า อันเป็นผลมาจากการนำเข้าที่ลดลง นอกจากนี้ ยังได้ปัจจัยหนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม มีเงินไหลออกสุทธิจากพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 37,000 ล้านบาท ถือเป็นการไหลออกที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 4 เดือน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการไหลออกจากตลาดตราสารทุน
อีกตัวเลขที่เป็นจุดอ่อนที่ต้องเฝ้าระวังคือ หนี้ครัวเรือนของไทยยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 90.6% ของ GDP ซึ่งสูงที่สุดในอาเซียน ในไตรมาสที่ 1/2566
การบริโภคต่อหัวของครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้น 8.1% ระหว่างปี 2564 ถึง 2565 โดยในกลุ่ม 40% ล่างสุดมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วยิ่งขึ้น อัตราความยากจนของประเทศไทยลดลงจาก 6.3% เป็น 5.3%
อย่างไรก็ตาม การลดลงนี้แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อัตราความยากจนลดลงมากที่สุด 2.4% ในขณะที่กรุงเทพฯ ประสบปัญหาความยากจนเพิ่มขึ้น