นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม รายงานความคืบหน้าการจัดการตะกอนแคดเมียมของกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ว่า วานนี้ (13 เมษายน) คณะกรรมการอำนวยการการขนย้ายกากแคดเมียมและกากสังกะสี ได้มีการพิจารณาแผนการขนย้ายกากแคดเมียม ซึ่งนำเสนอโดย บมจ.เบาด์แอนด์บียอนด์ (BEYOND) โดยประเด็นที่คณะกรรมการฯ ให้ความสำคัญ ประกอบด้วย
1. ขั้นตอนการเตรียมการ เมื่อบริษัท ฯ มีแผนการขนย้ายกากแคดเมียมที่ชัดเจนแล้ว จะสามารถใช้ในการสื่อสารกับชุมชนได้ บริษัท ฯ ต้องทำความเข้าใจกับชุมชนบริเวณโดยรอบโรงงานที่จังหวัดตาก โดย อก.จะเข้าไปช่วยด้วย และขอให้บริษัทฯ เพิ่มรถขนส่งจาก 10 คันตามที่เสนอมา เป็น 30 คัน เพื่อให้ขนได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ อก. ได้ดำเนินการพัฒนาระบบงานอิเล็กทรอนิกส์เพื่อควบคุมการขนส่งตั้งแต่ต้นทางจนถึงบำบัดแล้วเสร็จ (ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับแต่งให้สมบูรณ์) และการขนส่งต้องใช้ใบกำกับการขนส่ง เมื่อ บก.ปทส. ตรวจนับของกลางแล้ว จะส่งมอบให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ดำเนินการเคลื่อนย้ายกลับที่ต้นทาง โดยได้มีการเจรจาระหว่าง บริษัท เบาด์ฯ และ บริษัท เจแอนด์บี เมททอล จำกัด (J&B) ในการขนย้ายแล้ว และต้องคุยกับผู้ครอบครองกากแคดเมียมรายอื่น ส่วนการดำเนินการจะเริ่มขนย้ายกากจาก Warehouse ไปลงบ่อก่อน แล้วจึงจะขนย้ายกากจาก J&B เป็นลำดับต่อไป ก่อนจะขนย้ายกากจากพื้นที่ที่เหลือ
2. การตรวจสอบสภาพความแข็งแรงของบ่อฝังกลบ ให้บริษัทฯ ทำสรุปมาตรการ EIA ฉบับเดิม และฉบับล่าสุด เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงหลายรอบ โดยต้องใช้ข้อเสนอการฝังกลบล่าสุดใน EIA ส่วนการตรวจสอบสภาพความแข็งแรงของบ่อ 5 และ 4 ตาม EIA และปรับปรุงซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีการรั่วไหล ต้องเสร็จไม่เกิน 30 เมษายน 2567 ทั้งนี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จะลงพื้นที่ในวันที่ 17 เมษายน 2567 จะใช้เวลาตรวจสอบ 1 วัน ทั้งนี้ กพร. ได้ประสานขอความอนุเคราะห์สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตาก ในการตรวจสอบบ่อเก็บกาก ซึ่งหากมีปูนหลุดร่อน ต้องทำการอัดฉีดซ่อมรอยแตกชำรุดทั้งหมด ทั้งนี้ กพร. จะจัดทำรายงานการตรวจสอบบ่อเก็บกาก รวมถึงจะทำการตรวจสอบระบบระบายน้ำชะของทั้งบ่อ 4 และ 5 ด้วย
3. ขั้นตอนการขออนุญาต การขอเข้าดำเนินการในพื้นที่ตามคำสั่งของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ทั้งต้นทางและปลายทาง รวมถึงการแจ้งสำนักงานอุตสาหกรรม จ.ตาก ถึงรายละเอียดในการดำเนินการตามแผน การเข้าดำเนินการ ควรระบุวัน เวลา และรายละเอียดให้ชัดเจน ตลอดจนการแจ้งหน่วยงานท้องถิ่น โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งคณะทำงาน 6 กระทรวงเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา และการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียม โดยจะมีการหารือขั้นตอนการขออนุญาตที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในช่วงสัปดาห์หน้า
4. การเตรียมสถานที่และการตรวจสอบสภาพกากตะกอนแคดเมียม บริษัท ฯ เสนอวิธีการควบคุมการปรับเสถียร โดยใช้การทดสอบ pH เป็นเกณฑ์กำหนดในการควบคุมคุณภาพ มีการดึงตัวอย่างกากมาทำการทดสอบการปรับเสถียรแล้วจึงกำหนดเป็นสูตร หรือควบคุมโดย pH ต่อไป นอกจากนี้ บริษัท ฯ ยังได้จัดพื้นที่โรงงาน โดยแยกโซนซึ่งเป็นพื้นที่ปนเปื้อน และ โซนซึ่งเป็นพื้นที่รับกากจากภายนอก ซึ่งบริษัท ฯ จะต้องทำความสะอาดรถบรรทุกก่อนออกนอกโรงงาน
5. ข้อกำหนดในเรื่องบรรจุภัณฑ์และการขนส่ง สำหรับการขนส่งสินค้าอันตรายทางถนน (TP2 / ADR) ของกรมการขนส่งทางบกและกรมโรงงานอุตสาหกรรม จำเป็นต้องสวมบรรจุภัณฑ์พลาสติกห่อทับบรรจุภัณฑ์เดิมที่อาจเสื่อมสภาพเพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหลของฝุ่นระหว่างการลำเลียงได้ สำหรับรถขนส่งโรงงานเสนอใช้ Trailer แล้วใช้วัสดุปูรอง ห่อหุ้มปิดคลุมทั้งหมด เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจาย และต้องใช้รถขนส่งวัตถุอันตรายที่ได้รับใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายเพื่อการขนส่ง (วอ8) จากกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ขนส่งของเสียตามบัญชี 5.2 ลำดับที่ 2.8 ของเสียประเภทกากสังกะสี ตะกั่ว และแคดเมียม
6. ให้บริษัทฯ จัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ที่จำเป็นต้องใช้ ทั้งที่ต้นทาง ระหว่างการขนส่ง และปลายทาง ทั้งนี้ คณะกรรมการ ฯ ได้ขอให้บริษัท ฯ ปรับปรุงแผนตามที่ได้หารือกัน มาเสนอคณะกรรมการ ฯ อีกครั้งภายในวันอังคารที่ 16 เมษายน 2567 เพื่อเตรียมนำเสนอต่อคณะทำงานชุดใหญ่ต่อไป
*ผลตรวจกากแคดเมียมไม่พบสารกัมมันตภาพรังสี
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดการ กากตะกอนแร่แคดเมียมของกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อ 13 เมษายน 2567 ว่า ได้รับรายงานจากศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (ศูนย์วิจัยฯ กรอ. ) พบว่า ผลการตรวจสอบตัวอย่างกากตะกอนแร่แคดเมียม ที่เจอทุกจุด มีองค์ประกอบของธาตุทางเคมีตรงกันกับกากแร่จังหวัดตาก โดยไม่พบสารกัมมันตภาพรังสีและมีความชื้นเหลืออยู่เพียง 18% ส่วนแผนการขนย้ายกากฯ กลับสู่บ่อฝังกลบในจังหวัดตาก อยู่ระหว่างปรับปรุงรายละเอียดตามความเห็นของกระทรวงฯ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การขนย้ายเป็นไปอย่างปลอดภัย รวดเร็ว ถูกหลักมาตรฐานสากล
สอดคล้องกับองค์ประกอบของกากตะกอนแร่ในจังหวัดตาก จึงสามารถยืนยันได้ว่ากากตะกอนแร่ที่ตรวจพบและทำการยึดอายัดทั้งหมดนั้น เป็นการขุดและขนส่งมาจากแหล่งเดียวกัน คือบ่อคอนกรีตฝังกลบในจังหวัดตาก อย่างไรก็ตาม กากตะกอนแร่เหล่านี้ได้รับการปรับสภาพ ความเป็นกรดด่าง ลดความเป็นพิษ และถูกผสมด้วยปูนซีเมนต์ เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายและการชะล้าง จึงมีความอันตรายและโอกาสการเข้าสู่ร่างกายที่ลดลง อีกทั้ง มีการจัดเก็บกากตะกอนแร่ดังกล่าวภายในถุง Big Bag โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังในจุดที่ตรวจพบกากตะกอนทั้ง 5 จุด ระหว่างรอการขนย้ายกลับไปฝังกลบอย่างปลอดภัยในจังหวัดตาก
นายณัฐพลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า แคดเมียม (Cadmium: Cd) เป็นโลหะหนักที่พบอยู่ในดิน ซึ่งกากตะกอนแร่แคดเมียมที่จังหวัดตาก ไม่พบสารกัมมันตรังสีที่จะแผ่รังสีก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ ส่วนใหญ่พบร่วมกับแร่สังกะสีเพราะเป็นโลหะที่มีสมบัติทางธรณีเคมีคล้ายคลึงกัน จึงเป็นสายแร่ที่อยู่คู่กัน โดยทั่วไปแหล่งแร่สังกะสีจะมีแคดเมียมผสมอยู่ประมาณ 0.1-5% สำหรับประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดตากเป็นแหล่งของสายแร่สังกะสี ทำให้มีแคดเมียมปนอยู่กับสังกะสีด้วยเช่นกัน โดยแคดเมียมถูกนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมหลากหลายด้าน เช่น ใช้ฉาบและเคลือบเงาผิวโลหะต่าง ๆ เพื่อความเงางาม ทนต่อการกัดกร่อน สารเพิ่มความคงตัวของพลาสติก จำพวกพีวีซี ผลิตเม็ดสี และผลิตแบตเตอรี่ขนาดเล็ก ถ่านไฟฉาย เป็นต้น ดังนั้น การทำเหมืองแร่สังกะสีในพื้นที่จังหวัดตาก นอกจากทำให้ได้ผลิตภัณฑ์อย่างแร่สังกะสีแล้ว จะได้กากตะกอนแร่ที่มีส่วนประกอบของแร่อื่น ๆ เป็นผลพลอยได้มาด้วย
"ปัจจุบันพบกากตะกอนแร่แคดเมียมจากการประเมินล่าสุดแล้ว จำนวนว 12,535 ตัน สำหรับแผนการขนย้ายกากตะกอนแร่กลับสู่บ่อฝังกลบในจังหวัดตาก ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงรายละเอียดตามความเห็นของกระทรวงฯ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แผนการขนย้ายเป็นไปอย่างปลอดภัย รวดเร็ว ถูกหลักมาตรฐานสากล" นายณัฐพลฯ กล่าวทิ้งท้าย