นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณ นครเจนีวา เปิดเผยผลรายงานขององค์การการค้าโลก(World Trade Organization: WTO) เรื่องพัฒนาการของสภาวะการค้าระหว่างประเทศของโลก (Overview of Developments in the International Trading Environment) ว่า การค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัว 3.3%ในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวการค้าโลกในปี 2566 ที่ 0.8%
แต่มีความเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ 1.เศรษฐกิจจีนที่อาจเติบโตช้ากว่าที่คาดไว้ โดยมีแนวโน้มขยายตัว4.6%ในปี 2567 ลดลงจาก 5.4%ในปี 2566 (ข้อมูลจากIMF)
2.แรงกดดันจากเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาพลังงานและอาหาร) ยังคงอยู่ในระดับสูงในสหรัฐอเมริกาและยุโรป
3.ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความขัดแย้งล่าสุดในตะวันออกกลาง ที่รายงานนี้ยังไม่ได้นำมาผลกระทบมาพิจารณา
อย่างไรก็ดี ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกมีการประกาศใช้มาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้ามากกว่ามาตรการจำกัดทางการค้า ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีของการค้าโลก โดยมีการใช้มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า 303 มาตรการ ครอบคลุมมูลค่าการค้ารวม 977.2 พันล้านดอลลาร์ มากกว่ามาตรการจำกัดทางการค้า 193 มาตรการ ครอบคลุมมูลค่าการค้า 337.1 พันล้านดอลลาร์
เป็นที่น่าสังเกตว่า มาตรการจำกัดการนำเข้ามีความครอบคลุมทางการค้าสะสมเพิ่มขึ้นอย่างมากจากเพียง 73 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 0.6%ของมูลค่าการนำเข้ารวมของโลกในปี 2552 (ค.ศ.2009) มาเป็น 9.9%หรือ 2,480 พันล้านดอลลาร์และยังไม่มีสัญญาณลดลงในอนาคต
โดยมาตรการจำกัดการส่งออกที่เริ่มบังคับใช้ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่ครอบคลุมสินค้าประเภทเครื่องจักรกล ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยา และเหล็กและเหล็กกล้า และสำหรับมาตรการจำกัดการนำเข้า ส่วนใหญ่ครอบคลุมสินค้าประเภท น้ำมันเชื้อเพลิง อลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ ธัญพืช และเคมีภัณฑ์
ส่วนความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน รวมทั้งความรุนแรงในภูมิภาคตะวันออกกลาง มีแนวโน้มก่อให้เกิดการแบ่งแยกการค้า (Fragmentation)หรืออาจรุนแรงถึงปรากฏการณ์ลดลงของโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) โดยหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการแบ่งแยกทางการค้าที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ดัชนีมูลค่าการค้าระหว่างกลุ่มประเทศที่มีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกันที่ขยายตัวช้ากว่ามูลค่าการค้าภายในกลุ่มที่ 4-6% ตั้งแต่สงครามในยูเครนอุบัติขึ้น
นอกจากนี้ รายงานยังพบว่าสัดส่วนการค้าสินค้าขั้นกลางในการค้ารวมของโลกลดลงอยู่ที่ 48.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 51 %ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา
นางพิมพ์ชนก กล่าวว่า ในการประชุมคณะมนตรีว่าด้วยการค้าสินค้าของ WTO เมื่อเดือนพ.ย.66 สมาชิกได้หยิบยกข้อกังวลการค้ามากถึง 45 ข้อมาหารือกัน ซึ่งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าจากปี 62 โดยประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นเป้าหมายของการสร้างความกังวลทางการค้า เช่น สหภาพยุโรป 11 ข้อ, จีน 7 ข้อ, สหรัฐฯ 7 ข้อ โดยทั้ง 45 ข้อนั้น มี 9 ข้อที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ และ 7 ข้อเกี่ยวกับการใช้มาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อมแบบฝ่ายเดียวที่ส่งผลกระทบทางการค้า