ประธานเฟดระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีพัฒนาการที่ดีขึ้นมากเพียงพอรองรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมนี้ พร้อมยืนยันการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นไปอย่างช้าๆ
นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด กล่าวต่อหน้าคณะกรรมาธิการร่วมเศรษฐกิจของสภาคองเกรสในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (3 ธันวาคม) ถึงสภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในเวลานี้ ว่าการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งในปี 2558 โดยยอดขายรถยนต์มีความแข็งแกร่ง ขณะที่ราคาอสังหาริมทรัพย์และหุ้นที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับหนี้ที่ลดลง เป็นปัจจัยช่วยเพิ่มกำลังการใช้จ่ายของชาวอเมริกัน
คำกล่าวของนางเยลเลนส่งสัญญาณว่า ปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้ ตั้งแต่การเติบโตที่ชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมถึงการส่งออกที่อ่อนแอลง ไม่ลุกลามมายังภาคส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจ และไม่เป็นปัจจัยขัดขวางการปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2549
เป็นที่คาดหมายว่าเฟดจะประกาศขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมในวันที่ 15-16 ธันวาคมนี้ แม้ว่าทางฝั่งยุโรปจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในสัปดาห์นี้ก็ตาม เยลเลนยอมรับว่า ความคาดหวังของตลาดต่อทิศทางนโยบายการเงินที่สวนทางกันระหว่างสหรัฐฯ และยุโรปส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และจะเป็นปัจจัยกดดันต่อไป ดังนั้นการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป
คณะกรรมการนโยบายของเฟดตัดสินใจชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกมาเมื่อเดือนกันยายน โดยให้เหตุผลว่าปัจจัยจากภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกอาจจะขัดขวางกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง และมีความเป็นไปได้ที่จะกดดันเงินเฟ้อในระยะสั้นเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี บันทึกการประชุมเมื่อเดือนตุลาคมแสดงให้เห็นว่าเฟดไม่ได้มีการกล่าวถึงปัจจัยดังกล่าว
“มีการเปลี่ยนแปลงชัดเจนเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน ที่ความกังวลต่อสถานการณ์ภายนอกมีความโดดเด่น” โธมัส คอสเติร์ก นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ในนิวยอร์ก กล่าว และเสริมว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคและตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักในการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในเดือนธันวาคม
ด้านลอร่า รอสเนอร์ นักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯ จากบีเอ็นพี พาริบาส์ ในนิวยอร์ก กล่าวเช่นเดียวกันว่า เฟดกำลังพิจารณาว่าเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นอย่างไรและแข็งแกร่งพอรองรับการปรับดอกเบี้ยหรือไม่ “พวกเขาคิดว่ามันแข็งแกร่งพอ และนั่นคือหัวใจสำคัญ”
แนวโน้มของตลาดซื้อขายล่วงหน้าแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ประมาณ 74% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยจากระดับใกล้เคียง 0% ที่คงไว้มาเป็นเวลาเกือบ 7 ปี ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากคาดการณ์ว่าในการปรับขึ้นครั้งแรก ดอกเบี้ยจะถูกปรับขึ้น 0.25% ตามมาด้วยการปรับขึ้นอีกครั้งละ 0.25% เป็นจำนวน 4 ครั้งในปีหน้า
เยลเลนได้กล่าวย้ำถึงความเสี่ยงของการชะลอการเริ่มปรับดอกเบี้ยออกไปเป็นเวลานานเกินไป “ถ้าเราชะลอการเริ่มปรับดอกเบี้ยออกไปนานเกินไป มีความเป็นไปได้สูงที่เราจำเป็นจะต้องขึ้นดอกเบี้ยอย่างกระชั้นชิดเพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจขยายตัวเร็วเกินไป ซึ่งการทำเช่นนั้นจะกระทบกระเทือนตลาดการเงิน และอาจจะส่งผลผลักดันเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย” นอกจากนี้ การคงดอกเบี้ยในระดับต่ำนานเกินไปจะสนับสนุนให้นักลงทุนเสี่ยงเกินความจำเป็น ส่งผลกระทบกับเสถียรภาพทางการเงิน
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์กล่าวว่าตัวเลขการจ้างงานประจำเดือนพฤศจิกายนมีความสำคัญต่อการตัดสินใจของเฟด อย่างไรก็ดี เยลเลนกล่าวว่าแม้ตัวเลขจ้างงานมีความสำคัญแต่เฟดไม่ได้ให้น้ำหนักกับข้อมูลใดข้อมูลหนึ่ง