ผอ. แบงก์ออมสิน เผยผลสำรวจดัชนีเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก พบประชาชนห่วงแล้งทำราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ คาดปีนี้จีดีพียังเติบโตได้เกิน 3%
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสินคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกปีนี้จะขยายตัวที่ร้อยละ 3 จากนั้น จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ในระดับเฉลี่ยประมาณร้อยละ 3.5 ส่งผลให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยหรือจีดีพี ตลอดปี 59 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3 แน่นอน
ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยปีนี้คือภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การเบิกจ่ายงบลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ ตลอดจนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในโครงการต่าง ๆ เช่นการเติมเงินให้กับกองทุนหมู่บ้าน มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงสงกรานต์ โครงการบ้านประชารัฐ ตลอดจนงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรืองบกลางปี
ขณะที่ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงยังคงมีความรุนแรงเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมาประเทศคู่ค้าหลักใช้นโยบายการเงินที่แตกต่างกันส่งผลทำให้ค่าเงินบาทเกิดความผันผวนและเป็น อุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การลงทุนใหม่ของภาคเอกชนยังคงมีความไม่แน่นอนสูงและสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูงมีผลทำให้อำนาจซื้อของภาคครัวเรือนลดต่ำลง
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก ประจำเดือนเมษายนปี 59 จัดทำโดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก (GSI ) ซึ่งสะท้อนความรู้สึกของประชาชนในระดับฐานรากหรือกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท ที่มีต่อเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและในช่วง 6 เดือนข้างหน้า จากการสำรวจประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,580 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนีอยู่ที่ระดับ 44.9 สะท้อนว่า ประชาชนระดับฐานรากยังคงมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ฟื้นตัวมากนักโดยปัจจัยเรื่องปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงและราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำถือว่าเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นในระดับภาพรวมของประชาชนในระดับฐานราก
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4.35 สะท้อนให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงานยังไม่ฟื้นตัวมากนัก อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากต่อสถานการณ์ในอนาคต ปรับตัวมาอยู่ในระดับ 46.2 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนในระดับฐานรากมีความเชื่อมั่นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ทั้งนี้ เพื่อแยกตามองค์ประกอบของดัชนีพบว่า ประชาชนระดับฐานรากมีความมั่นใจในความสามารถจับจ่ายใช้สอยและการหารายได้ในอนาคต สูงกว่าระดับ GSI โดยรวม แต่ประชาชน ยังคงมีความกังวลใจต่อภาวะเศรษฐกิจ จากภาระหนี้สินที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก คาดว่า การบริโภคของประชาชนในระดับฐานรากจะฟื้นตัวได้ไม่มากนักในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากประชาชนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก แต่การฟื้นตัวของการบริโภค น่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงกลางไตรมาสที่ 2 หากสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและปัญหาภัยแล้งคลี่คลายได้เร็วกว่าที่คาดการณ์เอาไว้
ส่วนผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ในระดับฐานรากต่อนโยบายของภาครัฐ โดยในส่วนของการได้รับประโยชน์จากมาตรการของภาครัฐนั้น พบว่า ประชาชนระดับฐานรากส่วนใหญ่ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายสำหรับพัฒนาตำบลละ 5 ล้านบาทมากที่สุดถึงร้อยละ 76.6 รองลงมาคือมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติปี 55-57 งบสำรองจ่ายฉุกเฉินได้ประโยชน์ ร้อยละ 72.9 มาตรการปล่อยกู้กองทุนหมู่บ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อยร้อยละ 7.17 และมาตรการสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีผ่านธนาคารออมสิน ร้อยละ 70.8