ตัวเอกโครงสร้างพื้นฐานจัดงบกลางเป็นกองหนุน
“สมคิด” ประกาศ ปี 59 เดินหน้าดูแลการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับที่เหมาะสม พร้อมขับเคลื่อนปฏิรูปเศรษฐกิจ ทุ่มสร้างโครงสร้างพื้นฐานของท้องถิ่น ทั้งจัดหาแหล่งน้ำ แปรรูปสินค้าเกษตร สั่งสำนักงบประมาณ เตรียมงบกลางใส่กระเป๋า หวังเพิ่มแรงส่งเศรษฐกิจต่อเนื่องถึงไตรมาส 4 ปีนี้
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ (5 ม.ค.) ซึ่งเป็นครั้งแรกของปี รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายต่างๆ ได้รายงานความก้าวหน้าและงานที่จะดำเนินการในปี 2559 ให้รับทราบ โดยในส่วนของเศรษฐกิจนั้น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานว่า ในปี 2559 จะเน้นใน 2 เรื่องคือการดูแลการเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่ควรจะเป็น และเหมาะสมกับสภาพการณ์ตามปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ และการเดินหน้าขับเคลื่อนปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งทีมเศรษฐกิจได้หว่านเมล็ดพันธุ์ลงไปแล้วในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การให้สิทธิประโยชน์เพื่อให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน การเปิดให้ภาคเอกชนและรัฐร่วมลงทุนอย่างเร่งด่วน หรือพีพีพีฟาสต์แทร็ก เพื่อให้เกิดการร่วมลงทุนรวดเร็วมากขึ้น รวมทั้งมาตรการกระตุ้นภาคการใช้จ่ายทั้งภาคครัวเรือนและการใช้จ่ายในโครงการที่สำคัญของรัฐบาล
“ตามตัวเลขที่รองนายกฯสมคิด ได้รายงาน ในปี 2559 นี้ เศรษฐกิจโลกอาจจะไม่แจ่มแจ๋วเหมือนกับที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์ไว้ แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่าด้วยแนวทางเศรษฐกิจที่วางพื้นฐานเอาไว้จะทำให้เราผ่านเรื่องนี้ไปได้ เพราะไทยไม่ได้เน้นเรื่องการส่งออกเพียงอย่างเดียว ปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นปัญหาของโลก ที่ทุกประเทศเจอภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รัฐบาลจึงได้วางแนวทางว่าจะเติบโตจากภายในและจะรักษาแนวทางนี้ไว้ให้ได้”
สำหรับแนวทางการทำให้เศรษฐกิจเติบโตจากเศรษฐกิจภายใน ได้เตรียมการที่จะจัดสรรงบประมาณลงไปในโครงการทั้งหลายที่สอดคล้องกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อให้เงินที่ลงไปจะได้ไม่เสียของ โดยนายสมคิดได้หารือกับทุกภาคส่วนแล้วจะใช้แนวทางประชารัฐซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาชนมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใน โดยจะให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในระดับท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมาอาจได้ยินเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานของภาคอุตสาหกรรม แต่ในปี 2559 จะเน้นโครงสร้างพื้นฐานของท้องถิ่นเป็นสำคัญ เช่น เรื่องแหล่งน้ำ การแปรรูปสินค้าเกษตร และการจัดหาเครื่องจักรกลทางการเกษตร และให้เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวที่จะต้องผูกพันระดับพื้นที่ตั้งแต่ระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.), องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และระดับกลุ่มจังหวัด เพื่อให้สามารถขายสินค้าเกษตรแปรรูปและสินค้านวัตกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ด้วย
ขณะเดียวกัน นายสมคิดยังกล่าวถึงเรื่องอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ด้วยว่า ในปี 2559 จะต้องไม่ทำแบบกะปริบกะปรอย จะต้องเดินหน้าอย่างเต็มที่เพื่อที่จะทำให้ระบบไอทีมีความเร็วและกระจายไปครบทั่วทุกพื้นที่ นายสมคิดยังได้แจ้งเตือนสำนักงบประมาณให้เตรียมการสำรองงบประมาณกลางปีเพื่อเตรียมไว้ใช้รักษาแรงเหวี่ยงหรือโมเมนตัมของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆให้ได้ถึงไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปี 2559
“ปีนี้เศรษฐกิจโลกไม่ดี บางคนอาจจะมีความรู้สึกว่าต้นปี 2559 อาจจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ดีนัก จึงต้องรักษาโมเมนตัมไว้ให้ได้ ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะต้องจัดเตรียมสำรองงบกลางเอาไว้เพื่อใช้ขับเคลื่อนโครงการให้สอดรับกับสถานการณ์ โดยในไตรมาสที่ 3 และ 4 จะมีโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งอย่างเต็มที่”
นอกจากนี้ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงสถานการณ์ท่องเที่ยวว่า ในปีนี้เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2558 ที่ผ่านมาจะพบว่าการท่องเที่ยวของไทยจะเป็นตัวหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ได้รายงานให้ที่ประชุม ครม.ทราบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในปี 2558 จำนวน 29.88 ล้านคน ซึ่งในปีนี้นอกจากการรักษาระดับจำนวนคนที่มาท่องเที่ยวไทยแล้วจะต้องพัฒนาให้นักท่องเที่ยวมีคุณภาพสูงขึ้น มีจำนวนเงินที่ใช้ภายในประเทศไทยต่อหัวสูงขึ้น ยังจะขับเคลื่อนสินค้าโอทอปให้มีนวัตกรรมที่แปลกใหม่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวมาแล้วซื้อของติดมือกลับไปด้วย โดยสถิติในปี 2558 เมืองที่คนนิยมไปท่องเที่ยวของไทยคือกรุงเทพฯ แพ้ลอนดอนไปประมาณ 400,000-500,000 คน เป็นอันดับที่ 2 ของโลก โดยมีเงินสะพัดเฉพาะในกรุงเทพฯจำนวน 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ถ้าทั่วประเทศจะเป็นเงินจำนวน 2.2 ล้านล้านบาท ปีนี้จะต้องรักษามาตรฐานนี้ไว้ให้ได้ และจะทำให้ตัวเลขดีขึ้นไปอีก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจให้ ครม.รับทราบด้วยว่า ในปี 2559 ภาคเอกชนมีความกังวลด้านการขาดแคลนวัสดุก่อสร้างและแรงงานในประเทศ เนื่องจากภาครัฐเดินหน้าโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศขนาดใหญ่ โดยภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐประสานการทำงานกับภาคเอกชนมากกว่าเดิม.