สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.)
ผู้ประกอบการ

คาดสินเชื่อแบงก์Q4โตเพิ่ม0.3% เด้งรับอานิสงส์แพ็กเกจกระตุ้นภาครัฐ
21/10/2015
ข่าวเศรษฐกิจ

แบงก์ชี้สินเชื่อธุรกิจ-เอสเอ็มอีพุ่ง อานิสงส์มาตรการรัฐ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ประเมินแพ็กเกจกระตุ้น “ผู้มีรายได้น้อย-เอสเอ็มอี” ดันสินเชื่อโค้งท้ายโต 0.3% ส่วนปี 59 โตเพิ่มเป็น 6.1% จากปีนี้ 5.2% ส่วนเอ็นพีแอลลดเหลือ 2.6% ด้านแบงก์กสิกรไทย-ซีไอเอ็มบี ไทย” รับลูกค้าแห่ขอวงเงินซอฟต์โลนเพียบ มั่นใจอนุมัติได้ตามเป้า เผยปีหน้าสินเชื่อมีลุ้นขยับดีขึ้น

ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของภาครัฐที่ทยอยเริ่มออกมานับตั้งแต่กองทุนหมู่บ้าน การเร่งรัดการลงทุนในโครงการไม่เกิน 1 ล้านบาท มาตรการช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ผ่านโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) รวมถึงโครงการค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่รวมเม็ดเงินกว่า 1.36 แสนล้านบาท ที่เริ่มทยอยเบิกเงินจะเริ่มส่งผลต่อการขยายตัวของสินเชื่อในไตรมาสที่ 4 ให้ขยับเติบโตเพิ่ม 0.3% จากเดิมที่มองว่าจะขยายได้ 4.5% จะขยายเพิ่มเป็น 5.2% ภายในสิ้นปีนี้ หลังจากโครงการต่างๆ เริ่มมีสภาพคล่องขยับขยายการลงทุน

นอกจากนี้จะมีผลต่อเนื่องไปยังการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมในปี 2559 ให้ขยายตัวเพิ่มเพิ่มขึ้น 0.3% ด้วย จากที่คาดการณ์ว่าจีดีพีไทยในปีนี้จะเติบโตได้ที่ระดับ 2.7% ซึ่งเป็นการรวมแรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นระยะสั้นของภาครัฐเข้าไป หากไม่มีมาตรการคาดว่าจีดีพีขยายตัวได้เพียง 2.5% สำหรับปีหน้าขยายตัวเป็น 3.5%

ทั้งนี้ การขยายตัวของสินเชื่อในปีนี้ที่ระดับ 5.2% และปีหน้าเพิ่มเป็น 6.1% จะมาจากการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐเป็นหลัก โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจจะมาจากภาคการก่อสร้าง จะเห็นว่าภาครัฐเริ่มทำระบบในเรื่องของ E-Government ที่จะช่วยต่อยอดการขยายตัวของสินเชื่อให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าสินเชื่อธุรกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.9% จากปีนี้อยู่ที่ 4.4% เพิ่มเป็น 5.3% ในปีหน้า ขณะที่สินเชื่อการบริโภคอุปโภคจะขยายตัวจาก 7.4% เป็น 8.1% มาจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนด้านเงินฝากปรับเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวสินเชื่อที่คาดว่าจะดีขึ้น และดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขึ้น โดยปีหน้าจะขยายตัวที่ระดับ 6.8% จากปีนี้ 5.3% โดยเงินฝากออมทรัพย์จะขยายตัวสูงถึง 9.1% และเงินฝากประจำ 4%

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะเห็นการขยับขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 2.38% เพิ่มเป็น 2.85% ในไตรมาสที่ 4 ปัจจัยหลักมาจากสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ในอุตสาหกรรมเหล็กที่หยุดดำเนินการ ทำให้เอ็นพีแอลปรับเพิ่มขึ้นมาประมาณ 0.47% อย่างไรก็ดี คาดว่าเอ็นพีแอลในปี 2559 จะมีแนวโน้มลดลงจาก 2.68% เหลือเพียง 2.6% โดยสินเชื่อธุรกิจมีแนวโน้มปรับลดลงจาก 2.72% เหลือ 2.62% ลดลงประมาณ 0.1% ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคคาดว่าเอ็นพีแอลจะยังอยู่ในระดับทรงตัวอยู่ หรือปรับลดลงเล็กน้อยจากระดับ 2.56% เหลือ 2.53%

“สินเชื่อที่จะขยายตัวดีขึ้นมาจากมาตรการซอฟต์โลนและบสย.ที่จะเป็นแรงจูงใจให้ธนาคารสนใจปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น ประกอบกับโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะออกมา ทำให้สินเชื่อธุรกิจขยายตัวดีขึ้น ส่วนเอ็นพีแอลลดลงส่วนหนึ่งมาจากสินเชื่อที่โตขึ้น และหลังจากที่เศรษฐกิจฟื้นได้หนึ่งปีจะเริ่มเห็นเอ็นพีแอลดีขึ้น แต่จะดีขึ้นชัดเจนในปี 2560”

ด้านนายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อเอสเอ็มอีในปีนี้ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 4 แม้จะยังไม่เห็นการขยายตัวมากนัก แต่เชื่อว่าจากมาตรการกระตุ้นการช่วยเหลือเอสเอ็มอีผ่านโครงการซอฟต์โลนและมาตรการช่วยเหลือของธนาคารกสิกรไทยที่ออกมานั้น จะช่วยให้ยอดการเบิกใช้สินเชื่อสามารถกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นภายในต้นปีหรือไตรมาสแรกของปี 2559 ได้ชัดเจนขึ้น

ทั้งนี้ ธนาคารเริ่มเห็นสัญญาณการขอวงเงินไว้ล่วงหน้า แม้จะยังไม่มีการเบิกใช้ ซึ่งเป็นผล มาจากผู้ประกอบการต้องการรอให้อำนาจซื้อกลับมาฟื้นตัวชัดเจนจึงจะมีการลงทุนหรือขยายธุรกิจเพิ่มเติม ดังนั้น ในช่วงนี้จะเห็นเพียงการขอวงเงินหรือตั้งวงเงินไว้ก่อน แต่เมื่อเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น จะเริ่มเห็นการใช้วงเงินสินเชื่อมากขึ้น โดยล่าสุด จะเห็นว่ามีผู้ประกอบการจำนวน 1.8 พันราย ที่ให้ความสนใจเข้ามาขอใช้วงเงินสินเชื่อในโครงการซอฟต์โลน คิดเป็นวงเงินประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันมีการอนุมัติแล้ว 2 พันล้านบาท แต่มีการตั้งวงเงินใช้แล้วประมาณ 1.5 พันล้านบาท ซึ่งที่เหลืออีกประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท คาดว่าประมาณ 70-80% จะสามารถผ่านตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของธนาคารออมสิน คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการตั้งเบิกภายในเวลา 1 เดือน และหากดูสัญญาณมั่นใจว่าการปล่อยสินเชื่อโครงการซอฟต์โลนจะได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี เป้าหมายปล่อยสินเชื่อทั่วไปประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ของธนาคารทั้งในส่วนของวงเงินเพื่อการลงทุน สินเชื่อเบิกเกินบัญชีของ ยังไม่เห็นความต้องการของลูกค้า เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการเข้าโครงการสินเชื่อซอฟต์โลนที่มีต้นทุนทางด้านดอกเบี้ยเพียง 4% ถูกกว่าดอกเบี้ยเฉลี่ยทั่วไปอยู่ที่ 6-7% ทำให้สินเชื่อที่เข้ามา 1.5 หมื่นล้านบาท จะเป็นการเติบโต 100% ของสินเชื่อใหม่ ถือว่าผลงานค่อนข้างดีตอบสนองนโยบายภาครัฐค่อนข้างดี แต่เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่อง ธนาคารได้ออกแคมเปญลดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม โดยลูกค้าที่ขอกู้ตั้งแต่ 1-5 ล้านบาท ฟรีค่าประเมินหลักประกัน ลดค่าจดจำนอง 25% ของค่าจดจำนองที่ลูกค้าต้องจ่าย ซึ่งคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนลูกค้าลง 1.5% หรือคิดเป็นวงเงินที่ธนาคารช่วยเหลือลูกค้า 50 ล้านบาท

“แม้สินเชื่อไตรมาสที่ 4 ขยายไม่มาก แต่หลังมีมาตรการต่างๆ ออกมาจะช่วยรีบูธสินเชื่อกลับมาโตดีขึ้นในปีหน้า และเห็นการทยอยเบิกใช้วงเงิน โดยเฉพาะซอฟต์โลน เพราะลูกค้าที่เคยกู้สินเชื่อดอกเบี้ย 8-9% ลดลงเหลือ 4% ทำให้ซอฟต์โลนเติบโตได้ดี”

นายจิรัชยุติ์ อัมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพาณิชย์ธนกิจ บมจ.ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้มีผู้แสดงความจำนงขอสินเชื่อในโครงการซอฟต์โลนเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ในสัดส่วนเท่ากันประมาณ 50% โดยธนาคารกำลังพิจารณาหากเป็นลูกค้าเก่าที่ต้องการเพิ่ม ขยายวงเงินในการทำธุรกิจก็จะสามารถปล่อยได้ทันที ส่วนลูกค้าใหม่หากไม่ใช่เป็นการรีไฟแนนซ์หนี้เดิมสามารถดำเนินการได้ทันทีเช่นกัน คาดว่าจะทันตามกำหนดของธนาคารออมสิน

ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารอยู่ระหว่างการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าจำนวน 5-6 ราย เฉลี่ยวงเงินกู้รายละ 50 ล้านบาท เป็นลูกค้าขนาดกลาง ซึ่งธนาคารคาดว่าจะมีลูกค้าให้ความสนใจเข้าโครงการดังกล่าวจำนวนมาก เนื่องจากเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยที่ถูก โดยเฉลี่ยกรณีสินเชื่อปกติจะคิดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 5-6% หรือแม้แต่ธนาคารที่มีการบริหารจัดการต้นทุนที่ดีก็คิดอัตราดอกเบี้ยที่ 4.5% ซึ่งยังคงสูงเมื่อเทียบซอฟต์โลนที่คิดดอกเบี้ยเพียง 4% ดังนั้น ทำให้ลูกค้าให้ความสนใจมากกว่าสินเชื่อปกติ ทำให้เป้าหมายที่ตั้งไว้ในโครงการนี้จำนวน 1-1.5 พันล้านบาท น่าจะทำได้ตามเป้าหมาย ส่วนสินเชื่อปกติคาดว่าจะโตได้ที่ระดับ 3-4% ยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 5.3-5.4 หมื่นล้านบาท

“ภาพรวมสินเชื่อถือว่าดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นภาครัฐที่ออกมา แต่จะเป็นการค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในปีหน้า แต่คงไม่ได้เต็มที เพราะปัญหาลงลึกอาจใช้เวลาผงกหัว ซึ่งเชื่อว่ารัฐคงมีมาตรการมาช่วยเพิ่มเติม”

ที่มาของข่าว: ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวอื่นๆ

+ แผนผังเว็บไซต์ แผนผังเว็บไซต์

ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล
สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย


อาคารสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา ชั้น 1-2
ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 แขวงพระโขนง
เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110 (แผนที่)
โทรศัพท์ 02-7136290-2, 02-713-6547-50, 02-7124402-7 ต่อ 211-213


ภายใต้งบประมาณการสนับสนุน
จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
Copyright © 2015 Iron and Steel Institute of Thailand.