นายพรชัย รัตนตรัยภพ ประธานเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย เปิดเผยภายหลังนำผู้ประกอบการเข้าพบนายจักรมณฑ์ ผาสุกวานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ว่า ทางกลุ่มถือเป็นตัวเแทนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)อีกกลุ่มหนึ่งของประเทศที่ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2554 มีสมาชิกรวม 204 กิจการ มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือด้านการค้าการลงทุนระหว่างเอสเอ็มอีด้วยกันมากกว่ารอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ดังนั้นจึงค่อนข้างไม่เห็นด้วยกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีบางกลุ่มที่ต้องการตั้งสภาเอสเอ็มอี เพราะแนวทางดังกล่าวเป็นแนวคิดแบบเดิมที่คอยแต่ความช่วยเหลือของรัฐ โดยละเลยการช่วยเหลือตัวเองก่อน

"การตั้งสภาเอสเอ็มอีคือการรอความช่วยเหลือจากรัฐ แต่เครือข่ายเอสเอ็มอีของตนมองว่าควรเปลี่ยนความคิด รวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือกันเองจะเหมาะสมกว่า จากนั้นจึงประสานข้อมูลกับรัฐ หากติดขัดจึงขอความช่วยเหลือจากรัฐ ซึ่งถือเป็นหนทางหนึ่งสู่การปฏิรูปอุตสาหกรรมประเทศ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเห็นด้วย"นายพรชัยกล่าว
สำหรับ ประเด็นการเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมก็เพื่อแสดงความยินดีและ ยืนยันว่าพร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกัน
นายพรชัยกล่าวว่า ในส่วนของแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจเอสเอ็มอีนั้น เชื่อว่าจะดีขึ้น โดยทางเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเอง ปัจจุบันมีเอสเอ็มอีรวม 204 ราย มีมูลค่าการค้าการลงทุนในประเทศรวมประมาณ 200 ล้นบาท และการค้ากับต่างประเทศ คือ ออสเตรเลียประเทศเดียวประมาณ 60 ล้านบาท มาจากทุกกิจการ แต่กิจการหลักที่สร้างมูลค่าสูง คือ ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารเครื่องใช้ไฟฟัา
สำหรับปี2557 ทางเครือข่ายฯได้เปิดเจรจาการค้ากับต่างชาติมากขึ้นในรูปแบบความตกลงเบื้องต้น(เอ็มโอยู) อาทิ ญี่ปุ่น ล่าสุดเอสเอ็มอีไทยได้รับคำสั่งให้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อส่งออกจำนวน 1.4 หมื่นรายการ มูลค่า 2,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการเจรจาการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน4 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม เพื่อรองรับการรวมตัวภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ปี 2558 ด้วย