"อธิบดีใหม่"กรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดโรดแมป 6 ด้าน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สนองนโยบายคสช.ชูแก้ปัญหาออกใบรง.4 ล่าช้า อนุมัติ 30 วันทำได้จริง ก.ค.-ส.ค.ปล่อยแล้ว 773 ราย เงินลงทุนกว่า 6.1 หมื่นล้านบาท ยันทั้งปีตั้งเป้ากว่า 4 พันราย เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 3.5 แสนล้านบาท พร้อมเร่งแก้ไขปัญหาลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ขึ้นบัญชี 2.8 พันโรงงานรอบกทม.14 จังหวัด ทำฐานข้อมูลอุดรอยรั่ว

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงทิศทางการดำเนินงานว่า หลังจากที่ตัวเองได้เข้ามารับตำแหน่ง ได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์หรือโรดแมปของกรอ.ที่จะใช้เป็นกลไกขับเคลื่อน เศรษฐกิจของประเทศ 6 ด้าน เพื่อตอบสนองนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) โดยเฉพาะการเร่งออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานหรือรง.4 ที่คสช.ได้ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ที่จะมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งหลังจากที่กรอ.ได้ปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุญาตจากเดิม 90 วัน มาเหลือเพียง 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นมา พบว่า ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม มีจำนวนโรงงานที่ได้ใบอนุญาตรง.4ไปแล้วกว่า 800 ราย เม็ดเงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งมีจำนวนโรงงานและเม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 30 %

ทั้งนี้ หากพิจารณาการออกใบอนุญาตรง.4 หลังจากมีการปรับปรุงขั้นตอนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2557 พบว่ามีการออกใบอนุญาตไปแล้วจำนวน 773 ราย เม็ดเงินลงทุนประมาณ 6.1 หมื่นล้านบาท (ดูตารางประกอบ) โดยมีจำนวนโรงงานที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเกิน 30 วัน เพียง 6-7 ราย หรือคิดเป็น1%เท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่าขณะนี้กรอ.สามารถควบคุมการออกใบอนุญาตรง.4 ในแต่ละเดือนได้ไม่ต่ำกว่า 99 % จากปกติที่จะมีโรงงานยื่นขอรง.4 ประมาณ 300-400 รายโดยทั้งปีกรอ.ตั้งเป้าหมายที่จะออกใบอนุญาตรง.4 ไว้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาหรือราว 4 พันราย เม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 3.5 แสนล้านบาท จากยอด 8 เดือนที่ดำเนินการไปแล้ว 2.76 พันราย เงินลงทุน 2.31 แสนล้านบาท
"กรณีที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตรง.4 เกิน 30 วัน ทางกรอ.จะเข้าไปลงลึกดูในรายละเอียดว่าเกิดจากเหตุผลใด โดยเฉพาะกรณีที่อุตสาหกรรมจังหวัดที่รับเรื่องยื่นขอรง.4 มาโดยตรง ว่ายังติดขัดในด้านกฎหมายข้อใด หรือการดำเนินงานด้านดูแลสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่ครบถ้วน เพราะหากการพิจารณาล่าช้าต้องมีเหตุในการตอบคำถามนักลงทุน เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความมั่นใจและไม่พลาดโอกาสในการเดินหน้าลงทุนต่อไปได้"
นายพสุ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ โรดแมปที่กรอ.ยังให้ความสำคัญอีกเรื่อง จะเป็นในส่วนของการแก้ไขปัญหากากอุตสาหกรรมที่ยังมีปัญหาการลักลอบทิ้งตาม ที่สาธารณะ โดยขณะนี้นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศไปดำเนินการสำรวจโรงงานอุตสาหกรรม ในพื้นที่ตัวเองว่ามีปริมาณกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายและไม่อันตรายมาก น้อยแค่ไหน เพื่อนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลที่จะเจาะลึกลงไปดูแลกับโรงงานที่มีการสร้างกาก อุตสาหกรรมอันตราย ไม่ให้มีการลักลอบนำกากอันตรายไปทิ้ง
โดยเบื้องต้นได้พิจารณาแล้วว่ามีประมาณ 2.8 พันแห่ง ในอุตสาหกรรม 20 ประเภท เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมี หล่อหลอมโลหะ อุตสาหกรรมเหล็ก การผลิตสีและพ่นสีเคลือบสี เป็นต้น ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่รอบกรุงเทพมหานคร 14 จังหวัด ซึ่งจะมีการเข้าไปจัดทำฐานข้อมูลตั้งแต่ต้นน้ำว่าขนาดของเครื่องจักรแต่ละ โรงงาน สัมพันธ์กับวัตถุดิบที่นำมาผลิตหรือไม่ และกากของเสียที่เป็นอันตรายมีความสัมพันธ์กับการใช้วัตถุดิบที่เข้าสู่ กระบวนการผลิตอย่างไร ซึ่งจะเป็นการบ่งบอกถึงปริมาณกากของเสียที่ออกมา และสามารถนำไปกำจัดได้ทั้งหมดและเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่
อีกทั้ง ต้องขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการโรงงาน ให้ช่วยกันสอดส่องดูแลว่า มีโรงงานใดส่อไปในทางกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ด้วย โดยเฉพาะการปฏิเสธการนำกากอันตรายไปกำจัดในราคาที่ต่ำกว่าราคาในตลาด ซึ่งจะเป็นตัวบ่งบอกได้ว่า ผู้รับกากไปกำจัดอาจจะนำกากอันตรายไปลักลอบทิ้งได้
นายพสุ กล่าวเสริมอีกว่า ส่วนโรดแมปที่เหลืออีก 4 ด้าน ได้แก่ การจัดการวัตถุอันตราย จะเป็นเรื่องของการพัฒนามาตรการทางกฎหมายเช่น การนำเสนอแผนและกรอบระยะเวลาในการยกเลิกนำเข้า ผลิต และจำหน่ายแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบใน 5 ผลิตภัณฑ์ และการบริหารจัดการวัตถุอันตรายพัฒนาเข้าสู่ระบบ Chemical Policy ซึ่งจะทำให้ทราบปริมาณของวัตถุอันตราย นำมาใช้ประกอบในการพิจารณา การประกาศขึ้นทะเบียน เพื่อกำกับดูแลวัตถุอันตรายให้ครอบคลุมและทันต่อการเปลี่ยนแปลงเป็นมาตรฐานสากล
รวมถึงการพัฒนาสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและการใช้พื้นที่อุตสาหกรรม เพื่อจัดทำแผนเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 15 จังหวัด โดยสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน การบริหารด้านความปลอดภัย กับโรงงานที่มีความเสี่ยงสูง 12 ประเภท เพื่อป้องกัน ระงับเหตุการณ์สารเคมี เช่น ก๊าซพิษ ไฟไหม้หรือการระเบิด และการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออี ซี) โดยการปรับกฎระเบียบ จัดทำฐานข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศอาเซียน เพื่อประโยชน์ของนักลงทุนและระบบการให้บริหารสู่การเชื่อมโยงข้อมูลใน ภูมิภาค เป็นต้น
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,980 วันที่ 4 - 6 กันยายน พ.ศ. 2557