
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ว่า ขณะนี้ได้ทำการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างให้ กนอ.พิจารณา ซึ่ง กนอ.คาดว่าจะเตรียมข้อมูลทั้งหมดเพื่อยื่นสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อนุมัติในเดือนพฤศจิกายน 2557 คาดว่า สผ.จะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน ในการพิจารณาอนุมัติ และบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ก็น่าจะเดินหน้าพัฒนาพื้นที่ในส่วนของการวางโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภคได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2558 เป็นต้นไป
โดยนิคมฯอุดรธานีนี้ เป็นโครงการร่วมลงทุนของ กนอ. กับบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด และเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การเพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรมของกระทรวง อุตสาหกรรม ทั้งนี้ กนอ.ลงทุนในส่วนของศูนย์อำนวยความสะดวก ขณะที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนในที่ดินและโครงสร้างพื้นฐาน
“นิคมฯอุดรธานี เป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 56 ของประเทศ และเป็นจังหวัดที่ 16 ที่มีนิคมฯตั้งอยู่ นิคมฯแห่งนี้จะเน้นในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากยางพารา เนื่องจากในบริเวณนี้เป็นแหล่งปลูกยางพาราที่สำคัญ ซึ่งจะส่งเสริมให้จ.อุดรธานีเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอุตสาหกรรมของภาคอีสาน ตอนบน และรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ”นายวีรพงศ์ กล่าว
สำหรับจุดเด่นนิคมฯอุดรธานีอยู่ที่ความพร้อมด้านการขนส่ง เพราะตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟหนองตะไก้ 3 กิโกลเมตร (กม.) สามารถที่จะทำระบบรางเชื่อมเข้ามาในพื้นที่นิคมฯได้ ซึ่งจะทำให้การขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือแหลมฉบังทำได้ง่าย และยังมีโครงสร้างของระบบถนนเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคอื่น รวมทั้งการเชื่อมต่อ เส้นทางการค้าไปยัง สปป.ลาว ทะลุขึ้นไปยังมณฑลยูนนาน ของจีนได้ นอกจากนี้ยังมีความสะดวกในการส่งออกทางอากาศ เนื่องจากอยู่ห่างจากท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี 20 กม. เอื้อต่อการเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่เชื่อมภาคอีสานตอนบนกับประเทศเพื่อน บ้าน รองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด กล่าวว่า ตามแผนการพัฒนาพื้นที่จะแบ่งเป็น 2 ระยะ (เฟส) เฟสที่1 พื้นที่ 970 ไร่ พัฒนาปี 2558-2560 เฟสที่2 พื้นที่ 1,249 ไร่ พัฒนาปี 2561-2563 แต่หากได้รับอีไอเอจะเริ่มพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดพร้อมกัน ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2558 และคาดว่าจะขายพื้นที่ได้หมดภายในปี 2558