เปิดภารกิจประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ขจัดความขัดแย้งขับเคลื่อนอุตสาหกรรม

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถือเป็น 1 ใน 3 ฟันเฟืองหลักของภาคเอกชนที่มีความสำคัญต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างยาวนานเนื่องจากมีสมาชิกที่เป็นผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมเกือบ 7,000 แห่งทั่วประเทศทำให้ ส.อ.ท.มีบทบาทสำคัญต่อการสะท้อนความคิดเห็นของภาคอุตสาหกรรมที่มีต่อนโยบายของรัฐในด้านเศรษฐกิจที่สำคัญยังเป็นองค์กรหลักที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้อย่าง “แข็งแกร่ง” สร้างรายได้เข้าประเทศได้อย่างมหาศาลแม้ในยามที่ประเทศต้องเผชิญวิกฤติรอบด้าน
ด้วยมูลค่าการส่งออกในภาคอุตสาหกรรมกว่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี หรือประมาณ 6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนที่มากกว่า 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) คือบทพิสูจน์ความสำคัญขององค์กรนี้
ยิ่งเมื่อเศรษฐกิจของประเทศต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ทั้งปัจจัยภายในประเทศและนอกประเทศ โดยเฉพาะผลกระทบจากวิกฤติการเมืองที่ยืดเยื้อมากว่า 5 เดือน จนเริ่มส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจจริงของประเทศและทุกฝ่ายเริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนที่ชะลอตัวลงอย่างหนัก อาจถึงขั้นต้อง “ติดลบ” ในบางภาคด้วยแล้ว ความคาดหวังจากทุกฝ่ายที่มีต่อบทบาทขององค์กร ส.อ.ท.แห่งนี้จึงยิ่งมีสูงยิ่ง
แต่หากมองย้อนกลับไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ต้องถือเป็นยุควิกฤติความวุ่นวายภายในองค์กร ส.อ.ท.แห่งนี้ เมื่อเกิดรอยร้าวและความบาดหมางกันอย่างรุนแรงจากแกนนำภายใน ส.อ.ท.เองอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรเมื่อปี 2510 ยังผลให้บทบาทในการขับเคลื่อนข้อเรียกร้องต่างๆ ขององค์กรนี้ขาดความเป็น “เอกภาพ” ไปถนัดตา!
แต่หลังการเลือกตั้งประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ชื่อของนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ว่าที่ประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ ที่คาดหมายว่าจะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือน เม.ย.นี้ โดยจะรับช่วงดำเนินงาน ระหว่างปี 2557-2559 นั้น ดูจะเป็นความหวังของมวลสมาชิก ส.อ.ท.อีกครั้งว่า...
เขาจะสามารถสลายความขัดแย้งภายในองค์กรให้ยุติลงได้ รวมถึงสร้างความปรองดองในหมู่สมาชิกเพื่อให้เกิดการร่วมมือกันทำงานได้อีกครั้งในฐานะ “ลูกหม้อ” ที่ขลุกอยู่กับ ส.อ.ท.มานานนับ 10 ปี และในฐานะผู้บริหารกิจการตนเองที่มีมูลค่ากว่า 22,000 ล้านบาทต่อปี จนได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย
เขาจึงเป็นที่คาดหวังว่าจะสามารถใช้ศักยภาพและความสามารถที่มีอยู่นำพาองค์กร ส.อ.ท.ให้ก้าวข้ามความขัดแย้งและนำพาองค์กร ส.อ.ท.ให้สามารถฟันฝ่าวิกฤติที่กำลังรุมเร้าผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมลงไปได้ ยิ่งเมื่อ “ว่าที่ประธาน ส.อ.ท.” ผู้นี้ ได้สร้างปรากฏการณ์ในการแสวงหาความร่วมมือและความปรองดองด้วยการประกาศดึง นายวิศิษฐ์ ลิ้มประนะ คู่แข่งชิงตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.เข้ามาเสริมทัพ พร้อมประกาศเจตนารมณ์ร่วมที่จะทำงานร่วมกัน ทิศทางการขับเคลื่อนองค์กร ส.อ.ท.จึงดูเป็นความหวังที่มวลสมาชิกต่าง “ถวิลหา” โดยแท้!
เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เห็นจุดเริ่มของการสร้างความ “ปรองดอง” ในองค์กรที่เป็นฟันเฟืองหลักในภาคธุรกิจ “ทีมเศรษฐกิจ” จึงเปิดพื้นที่นี้ค้นหาวิสัยทัศน์ มุมมอง และนโยบาย ว่าที่ประธาน ส.อ.ท.คนที่ 14 ดังนี้....

สร้างความเป็นเอกภาพในองค์กร
นายสุพันธุ์ เปิดฉากสนทนากับ “ทีมเศรษฐกิจ” ถึงนโยบายที่เป็นวาระเร่งด่วนของคณะกรรมการ ส.อ.ท.ชุดใหม่ ก็คือการสร้างความสมานฉันท์และความปรองดองของสมาชิก เพื่อให้เกิดการร่วมมือกันและเพื่อเปลี่ยนแปลง ส.อ.ท.ไปสู่ “ยุคใหม่”
“สิ่งที่ต้องแก้ไขเป็นอันดับแรกก็คือ การสร้างความเป็นเอกภาพให้เกิดขึ้นเพื่อเปิดทางให้ทุกฝ่ายได้เข้ามาทำงานร่วมกัน”
นอกจากนี้ ยังจะขอหารือกับบรรดาผู้อาวุโส อดีตประธาน ส.อ.ท.และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเรื่องการแก้ไขพระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2530 ในเรื่องข้อกำหนดในการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้เกิดการแตกแยกกันหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น “เราควรมีการกำหนดวิธีการเลือกตั้งอย่างไร เพื่อไม่ให้คนทะเลาะกัน โดยมีเป้าหมายให้สมาชิกเลือกตัวประธาน ส.อ.ท.เพียงคนเดียว คนที่จะมาเป็นกรรมการ ส.อ.ท.ควรจะให้มาจากการแต่งตั้งแทนการเลือกตั้ง เป็นต้น”
ทั้งนี้ ว่าที่ประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ได้ย้อนรอยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก่อนหน้าว่าเป็นผลพวงมาจากประเด็นในเรื่องของการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ที่เป็นปัญหาของสมาชิกที่มีความเห็นแตกต่างกัน ทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่อง ดังนั้นจะเชิญคนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวมาหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน
เพราะจากประสบการณ์ที่ทำงานในสายงานต่างจังหวัดมาโดยตลอด ทำให้รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น หลังจากนโยบายค่าแรง 300 บาท มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเข้าไปให้การช่วยเหลือ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศกว่า 2.3 ล้านราย ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
กับแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ จะมีการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่ อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร, บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน), เครือเอสซีจี, บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ฯลฯ เข้าไปช่วยพัฒนาบุคลากร อบรมให้ความรู้ รวมถึงการเปิดบริษัทให้เอสเอ็มอีเข้าไปศึกษาดูงาน การสอนเทคนิคต่างๆให้ เพื่อให้ “เอสเอ็มอี” สามารถต่อยอดธุรกิจได้ ทั้งยังจะช่วยเพิ่มช่องทางตลาดซื้อ-ขายผ่านระบบ อี-คอมเมิร์ซให้ เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการทำธุรกิจให้ด้วย
“แผนงานดังกล่าวมั่นใจว่าจะช่วยทำให้เอสเอ็มอีสามารถลดต้นทุนทั้งระบบได้ เพื่อให้ “เลือดหยุดไหล” และช่วยลดจำนวนการปิดกิจการลงได้ อันจะช่วยให้สามารถรักษาการจ้างงานเดิมและเพิ่มการจ้างงานใหม่ ทำให้เอสเอ็มอีมีกำลังพร้อมที่จะเติบโตในระยะยาวต่อไป”
อย่างไรก็ตามเพื่อไม่เกิดความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจเกินกว่าความจำเป็นว่าที่ประธาน ส.อ.ท. ยังได้ฝากข้อคิดไปถึงทุกพรรคการเมืองว่าหากมีการเลือกตั้งครั้งต่อไปขออย่าให้ทุกพรรคนำนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาใช้เป็นนโยบาย “หาเสียง” เช่น จะขยับค่าแรงเพิ่มเป็น 400-500 บาทต่อวัน
“เพราะเรื่องของค่าแรงนั้นมีคณะกรรมการไตรภาคีเป็นกลไก พิจารณาอยู่แล้วและทุกฝ่ายก็ให้การยอมรับมาโดยตลอด แต่ครั้งที่ผ่านมาเป็นการขึ้นค่าแรงโดยไม่มีการหารือกับคณะกรรมการไตรภาคีมาก่อน เป็นการนำเอานโยบายประชานิยมเร่งด่วนมาใช้ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงเป็นวงกว้างต่อประชาชนและผู้ประกอบการ”
อย่างไรก็ตาม เมื่อระเบิดเวลาลูกนี้ไม่สามารถกลับไปแก้ไขอะไรได้อีก จึงอยากเสนอให้ภาครัฐพิจารณาต่อไปด้วยว่าจะสามารถ “เยียวยา” ความเดือดร้อนของนายจ้างได้อย่างไร จะมีการทอนคืนมาให้ผู้ประกอบการ อาทิ การลดค่าไฟฟ้า ลดอัตราดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่เริ่มสร้างธุรกิจให้ยืนหยัดอยู่ได้อย่างไรบ้าง เพราะหากธุรกิจยืนอยู่ได้ การจ้างงานก็จะเกิดขึ้นเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อเนื่อง
“เรื่องค่าแรง เป็นเรื่องของความต้องการและปริมาณที่ต้องสมดุลกัน หากเศรษฐกิจขยายตัวได้ดี ค่าแรง 500 บาทต่อวัน นายจ้างก็จ่ายได้ แต่หากเศรษฐกิจไม่ดี ค่าแรงแค่ 200 บาทนายจ้างก็ไม่สามารถจ้างได้เช่นกัน”
สู่องค์กร “ธรรมาภิบาลที่ดี”
ว่าที่ประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ ยังกล่าวถึงหัวใจสำคัญ ของการทำงานในตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.ในช่วง 2 ปีข้างหน้าว่ามีอีกเรื่องที่ต้องการผลักดันนั่นคือ จะส่งเสริมให้ ส.อ.ท.ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำที่ได้รับการยอมรับของประชาชนเป็นตัวอย่างองค์กรที่มีความโปร่งใส ปราศจากคอร์รัปชันและมีธรรมาภิบาลที่ดี (Good Governance) ที่ปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง
นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการสร้างจิตสำนึกให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม หรือ “ซีเอสอาร์” เช่น เป็นส่วนหนึ่งของการลดมลพิษต่างๆ การประหยัดพลังงานและการอยู่ร่วมกันกับชุมชนอย่างยั่งยืน รวมทั้งยังจะมีการจัดประชุมระดมสมองของสมาชิกทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันจัดทำแผนปฏิรูป ส.อ.ท.ระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 42 กลุ่ม กับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ 74 จังหวัด เพื่อสนับสนุนการทำงานเป็นทีม ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก โดยเฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งข้อมูลในการประชุมของกลุ่มข่าวสาร การจัดกิจกรรม และส่งผ่านช่องทางเอสเอ็มเอส, อีเมล์ เพื่อให้สมาชิกต่างจังหวัดให้รับรู้ข่าวสาร และความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจระหว่างสมาชิกทั้ง 2 ฝ่าย
“เมื่อได้ข้อสรุปของแผนปฏิรูปดังกล่าว จะทำให้ ส.อ.ท.มีเข็มทิศที่ชัดเจนถึงแนวทางการสนับสนุนให้กลุ่มอุตสาหกรรม 42 กลุ่มช่วยเหลือดูแลสมาชิกทั้ง 74 จังหวัด แม้ว่าบางจังหวัดจะไม่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่ก็ตาม”
ขณะเดียวกันยังมองถึงการพัฒนา “ทายาท” นักอุตสาหกรรมที่มีอยู่มากมายใน ส.อ.ท.ที่รอสืบทอดกิจการของตระกูลจึงจะก่อตั้งโครงการทายาทนักอุตสาหกรรม หรือ Young–FIT เพื่อเปิดโอกาสให้นักอุตสาหกรรมรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของ ส.อ.ท.มากขึ้น เรียนรู้การทำงานของนักอุตสาหกรรมรุ่นอาวุโสที่มีประสบการณ์หรือเพดานบินที่สูงและสานต่อภารกิจในอนาคตต่อไป
ผู้นำและศูนย์กลางอุตสาหกรรมเออีซี
นายสุพันธุ์กล่าวต่อว่า อีกพันธกิจที่ ส.อ.ท.ต้องใส่ใจคือ การรับมือการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 เป็นอีกเรื่องที่ ส.อ.ท.ต้องผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำและศูนย์กลางอุตสาหกรรมในอาเซียน ซึ่งเท่ากับสมาชิกของ ส.อ.ท.จะต้องก้าวให้ทันโลก เพราะเออีซี คือศูนย์รวมของผู้บริโภคกว่า 600 ล้านคน ที่จะมองข้ามไม่ได้ และที่สำคัญการทำธุรกิจนับจากนี้ไป ต้องมีความฉับไว ถูกต้อง แม่นยำ เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในเออีซี
“ผมอยากปฏิวัติระบบการค้าขายของสมาชิก ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) มาใช้เก็บข้อมูลต่างๆ (Database) ให้สมบูรณ์และทันสมัย อีกทั้ง ยังเป็นการเพิ่มช่องทางติดต่อสื่อสารระหว่างสมาชิก ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ผ่านการประชุมผ่านระบบการสื่อสารโทรคมนาคม หรือ วีดิโอคอนเฟอเรนซ์ และการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านทางตลาดออนไลน์ด้วยระบบ E-Mar– ketplace ที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ”
นอกจากนี้ ยังจะเข้าไปจัดกลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้ ส.อ.ท. ให้มีการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ ซึ่งจะรวมได้ถึง 11 คลัสเตอร์ โดยเป็นการรวมกลุ่มกิจการที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ให้สามารถพึ่งพา และใช้วัตถุดิบร่วมกันได้ หรือร่วมมือกันเพื่อลดใช้พลังงาน ขณะเดียวกัน ก็จะมีการจัดตั้ง 18 คลัสเตอร์จังหวัด ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้จังหวัดที่มีความพร้อมในการลงทุน เป็นพี่เลี้ยงให้กับจังหวัดที่ต้องการรับการสนับสนุนในการลงทุน ฯลฯ
รวมทั้งยังทำให้เกิดการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ซึ่งประกอบด้วยอุตสาหกรรมขนาดใหญ่–ขนาดกลางและขนาดเล็กทั่วประเทศ ที่มารวมตัวกันและช่วยเหลือกันเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินงานได้ตามแผน จะทำให้หลายอุตสาหกรรมสามารถเจาะตลาดเออีซีได้อย่างแน่นอน อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร, สิ่งทอ, เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผู้บริโภคอาเซียนนิยมบริโภคสินค้าไทย ที่มีคุณภาพและมาตรฐานเหนือกว่าคู่แข่ง เช่น ประเทศจีน
ขณะเดียวกัน ส.อ.ท.ก็เป็นสมาชิกในสภาธุรกิจต่างๆ อาทิ สภาธุรกิจไทย-กัมพูชา, สภาธุรกิจไทย-ลาว, สภาธุรกิจไทย-อาเซียน ฯลฯ และคงใช้เวทีเหล่านี้แสวงหาช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านตลาดตามแนวชายแดนที่ใน แต่ละปีมีมูลค่าสูงเกิน 1 ล้านล้านบาทเพื่อให้มีปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกๆปี
**********
ทั้งนี้ภายใต้สถานการณ์การเมืองซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้ง นายสุพันธุ์ยืนยันว่า ส.อ.ท.พร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกรัฐบาลผ่านกลไกของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.)
พร้อมฝากความหวังไว้ด้วยว่า ภาคเอกชนต้องการให้มีรัฐบาลใหม่โดยเร็วที่สุด เพราะหากล่าช้าไปอีก 2 เดือน ความเสียหายในการลงทุนของประเทศจะมีมูลค่ามหาศาลหลายล้านล้านบาท ซึ่งอาจมากกว่าความเสียหาย เมื่อครั้งเกิดมหาอุทกภัยปี 2554 ด้วยซ้ำ
“ผมยังยืนยันว่าภาพรวมของเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ต่อเนื่องหากมีแรงหนุนส่งที่เหมาะสมผ่านกลไกของภาครัฐ เพราะเมื่อภาคเอกชนมีกำลังที่เข้มแข็ง ก็จะมีเรี่ยวแรงในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆเข้ามาปรับปรุงการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ผมยังเชื่อมั่นว่าแม้ปีนี้จะมีสารพัดปัจจัยเสี่ยงที่มาบั่นทอนอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่มองกันว่าจะขยายตัว 3-4% ยังมีความเป็นไปได้ แต่หากเรามามัวทะเลาะกันเองก็อาจได้เห็นจีดีพีที่ระดับ 2% เท่านั้น”
“ภายในระยะเวลา 1 ปีนับจากนี้ ผมจะทุ่มเทสรรพกำลังดำเนินการแนวทางที่วางไว้เพื่อเรียกความเชื่อมั่นและพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ในระดับสากลทำให้สมาชิกของ ส.อ.ท.มีความแข็งแกร่งพร้อมเป็นเครื่องจักรอีกตัวหนึ่งในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว” นายสุพันธุ์กล่าวทิ้งท้าย.