ตลาดเครื่องจักรกลหนักปรับแผนสู้ หลังเศรษฐกิจซบ "โคมัตสุ" เตรียมงบประมาณปรับปรุงเครือข่าย หวังรองรับบริการหลังการขาย มั่นใจแม้ยอดขายชะลอตัวแต่ส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่ม

นายประณิธาน พรประภา รองผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางกอกโคมัตสุเซลส์ จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเครื่องจักรกลยี่ห้อหนัก"โคมัตสุ"เปิดเผยว่าภาพรวมตลาดอุตสาหกรรมเครื่องจักรหนักในปีที่ผ่านมามีจำนวน 4 พันคัน ลดลงจากปีก่อนหน้า ขณะที่ในปีนี้ตลาดจะหดตัวลงมาที่ 3.5 พันคัน เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว อย่างไรก็ตามบริษัทมีการปรับแผนงานเพื่อจะหารายได้จากส่วนอื่นที่ไม่ใช่การขาย
สำหรับแผนงานดังกล่าวจะเน้นหนักไปที่การปรับปรุงสาขาเล็กให้เป็นศูนย์บริการหลังการขาย คาดว่าแต่ละแห่งจะใช้งบประมาณ 100 ล้านบาทต่อสาขา โดยปัจจุบันโคมัตสุมีศูนย์บริการจำนวนกว่า 22 สาขา อาทิ นวนคร,สระบุรี,นครสวรรค์,ลำปาง,เชียงใหม่,อุดรธานี, นครราชสีมา,ระยอง,ราชบุรี,สุราษฎร์ธานี,ทุ่งสง,หาดใหญ่ ขณะที่แผนงานขยายสาขาใหม่นั้นจะเป็นแผนงานขั้นต่อไปในอนาคต
"สินค้าของเราจะขายพร้อมบริการ โดยมีการรับประกัน 3 ปี 7 พันชั่วโมง ดังนั้นเราต้องเตรียมความพร้อมในการบริการหลังการขายให้กับลูกค้าผู้ใช้รถ โดยเราจะทำการปรับปรุงสาขาเล็กให้กลายเป็นศูนย์บริการครบวงจร ซึ่งได้ทยอยปรับปรุงแล้ว คาดว่าปีนี้จะทำอีกประมาณ 10 แห่ง นอกจากนั้นแล้วเรายังทำการย้ายสำนักงานขาย บริการ และอะไหล่ บนเนื้อที่ 44,696 ตารางเมตร ย่านบางเสาธง สมุทรปราการเพื่อรองรับการเติบโต"
ด้านแผนการขายในอนาคต คาดว่าจะมีการสนับสนุนการซื้อขายเครื่องจักรประกอบการทำเหมืองที่มีมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ส่วนก่อนหน้านั้นบริษัทได้ลงนามซื้อขายเครื่องจักรกลหนักโคมัตสุ รถบรรทุกสำหรับงานเหมืองจำนวน 22 คัน มูลค่ากว่า 500 ล้านบาทให้กับบริษัท สหกลอิควิปเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทคนไทยที่ดำเนินโครงการมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาทของการไฟฟ้าฝ่าย ผลิตฯ เป็นผู้รับเหมาเปิดหน้าดินเหมืองลิกไนต์ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
นายประณิธาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้มีการวางเป้าหมายส่วนแบ่งทางการตลาด 25% ส่วนผลการดำเนินงานตั้งไว้ที่ 750-760 คัน ลดลง 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนรายได้คาดว่าจะอยู่ที่กว่า 5 พันล้านบาท แบ่งออกเป็นรายได้จากการขายรถประมาณ 4 พันล้านบาท และอีก 1 พันล้านบาทเป็นรายได้จากงานบริการ อาทิ งานซ่อม,ค่าอะไหล่,ค่าแรง
ขณะที่ผลการดำเนินงานในปี 2556 พบว่ามีส่วนแบ่งทางการตลาด 23% และมียอดขายเครื่องจักรรวมจาก 5 กลุ่มสินค้า รถขุดไฮดรอลิก รถตัก รถตักดิน รถเกลี่ย และรถบรรทุกเทท้าย รวมทั้งสิ้น 928 คัน คิดเป็นมูลค่า 4 พันล้านบาท และมียอดการจำหน่ายรถเก่า งานซ่อม บริการหลังการขายอีก 1,200 ล้านบาท รวมปีที่ผ่านมามีรายได้ที่ 5.2 พันล้านบาท
"ยอดขายรถใหม่ที่ตั้งเป้าหมายลดลงเป็นผลมาจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมารัฐบาลมีการกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ภาพรวมมีการเติบโต แต่ตอนนี้ตลาดเริ่มกลับมาเป็นปกติซึ่งเราก็ประเมินว่าตลาดก็ต้องมีขึ้นมีลง แต่เราจะเน้นปรับส่วนแบ่งทางการตลาดให้เพิ่มสูงขึ้น"
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,921 วันที่ 9 - 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557