สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.)
ผู้ประกอบการ

ทำไม...เกษตรไทยถึงยากจน
12/12/2013
ข่าวอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล

ไปฟังผู้รู้เสวนาเรื่องเครื่องจักรกลการเกษตร ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แง่คิดที่ผู้บริหารนโยบายประเทศ ข้าราชการกระทรวงเกษตรฯน่าจะนำมาเป็นดัชนีวัดความสามารถของตัวเอง เพราะได้สะท้อนให้เห็นว่าตลอดระยะเวลา 81 ปี นับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองและ 121 ปี ของการสถาปนากระทรวงเกษตรฯ... การพัฒนาเกษตรของบ้านเราเป็นไปแบบถอยหลังลงเหว

นี่ไม่ใช่ข้อเขียนจากการนึกคิดไปเองหวังแดกดันใคร แต่เป็นความรู้สึกเมื่อได้ยินต่างชาติพูดถึงเกษตรกรในบ้านเรา นายเฉิน จิง เฉิน นักธุรกิจไต้หวันเข้ามาค้าขายสินค้าทางการเกษตรในบ้านเรามาหลายสิบปีได้เปรียบเทียบวิธีคิดของเกษตรกรไทยกับไต้หวัน

เกษตรกรไทยเวลาเจอหน้ากัน มักจะพูดทักทาย...ปีนี้ปลูกพืชไปเท่าไร มากแค่ไหน (กี่ไร่)

ในขณะที่เกษตรกรไต้หวันจะทักทายว่า...ปลูกพืชอะไร ได้ผลผลิตเท่าไร (1 ไร่ได้กี่ตัน)

ได้ยินอย่างนี้ท่านผู้มีอำนาจมีหน้าที่โดยตรงรู้สึกเช่นไร...เกษตรกร ไทยเน้นปริมาณไม่สนคุณภาพ จะขายได้ราคาหรือเปล่าไม่สน ปลูกมากไว้ก่อน ไม่เพียงจะทำให้มีปัญหาเป็นหนี้ขาดทุนยากจนตามมา ยังทำให้การบุกป่าเปิดที่ทำกินเพิ่มมากขึ้นเข้าไปอีก...เรียกว่าการพัฒนาที่ผ่านมาถอยหลังกลับสู่ยุคล่าอาณานิคมเพื่อขยายพื้นที่ทำกิน

และเขายังเปรียบเทียบถึงวิธีคิดภาครัฐที่แตกต่างกันอีกว่า ไต้หวันมองการทำเกษตรคือธุรกิจ

นายเปรม ณ สงขลา บรรณาธิการวารสารเคหเกษตรก็บอกเช่นกันว่า ไม่เพียงไต้หวันประเทศอื่นๆมองเรื่องนี้เหมือนกันหมด แม้แต่มาเลเซีย อินโดนีเซีย มองการทำเกษตรคือธุรกิจ เมื่อเกษตรกรควักเงินลงทุนไปแล้วจะต้องได้อะไรกลับคืนมาและมองว่าปัจจัยการผลิตทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย ยา สารเคมี เครื่องจักรกล คือ Infrastructure หรือโครงการพื้นฐานที่รัฐจะต้องจัดหา สนับสนุน อุดหนุนให้เกษตรกรได้ใช้ในราคาที่ถูกอย่างเหมาะสม

ส่วนนโยบายของเรากลับมองเกษตรเป็นแค่การทำมาหากินเพื่อความอยู่รอด การให้ความช่วยเหลือจึงออกมาในรูปสังคมสงเคราะห์ ช่วยเหลือแบบให้ทานเพื่อให้มีกินกันไปวันๆเท่านั้นเอง

ฉะนั้นจึงไม่แปลกใจเลยทำไมยิ่ง พัฒนาเกษตรกรไทยถึงยิ่งยากจน...และทำไมการช่วยเหลือจากภาครัฐถึงไม่ช่วยให้เกษตร ไทยเข้มแข็ง ยืนด้วยลำแข้งตัวเองเสียที...

โดย.......ชมชื่น ชูช่อ

 

 

ข่าวอื่นๆ

+ แผนผังเว็บไซต์ แผนผังเว็บไซต์

ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล
สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย


อาคารสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา ชั้น 1-2
ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 แขวงพระโขนง
เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110 (แผนที่)
โทรศัพท์ 02-7136290-2, 02-713-6547-50, 02-7124402-7 ต่อ 211-213


ภายใต้งบประมาณการสนับสนุน
จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
Copyright © 2015 Iron and Steel Institute of Thailand.