สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.)
ผู้ประกอบการ

ปลื้มยอดขอบีโอไอทะลุ1ล้านล้าน
31/12/2014
ข่าวเศรษฐกิจ

?บีโอไอเจาะข้อมูลเชิงลึกให้ธุรกิจไทย?

ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนปี 57 ทะลุ 1 ล้านล้านบาท สูงกว่าที่ตั้งเป้า ธ.ค.เดือนเดียวพุ่ง 460 โครงการ เม็ดเงินลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท ชี้ปัจจัยมาจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ หวั่นได้สิทธิประโยชน์ลดลง หลังบีโอไอยืนยันยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่บังคับใช้ 1 ม.ค.58 เผยต้องทำงานหนักมากขึ้น เชื่อนักลงทุนหายไปแน่ช่วงครึ่งปีแรก   

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้ลงนามประกาศใช้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2557 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป ได้ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 1-19 ธันวาคม ที่ผ่านมา มีผู้เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเป็นจำนวนมากถึง 460 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนราว 3.043 แสนล้านบาท    

โดยคาดว่าน่าจะมีปัจจัยมาจากนักลงทุนมีความกังวลกับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ ที่มองว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์ลดลงเมื่อเทียบกับของเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ และการประชุมบอร์ดบีโอไอเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา ก็ได้ยืนยันที่จะไม่เลื่อนประกาศบังคับใช้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ออกไป   

ทั้งนี้ เห็นได้จากประเภทกิจการที่ยื่นขอรับส่งเสริมสูงสุดเป็นเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร จำนวน 118 โครงการ มูลค่าลงทุน 5.824 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษและพลาสติก 91 โครงการ เงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท และอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค 85 โครงการ เงินลงทุนประมาณ 5.12 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากยื่นขอตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ ก็จะได้สิทธิประโยชน์ต่ำกว่าของเดิม เป็นต้น    

อย่างไรก็ตาม หากรวมยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่เดือนมกราคม- 19 ธันวาคม 2557 จะพบว่ามีโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้นจำนวน 1.848 พันโครงการ คิดเป็นเงินลงทุนราว 1.07 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับยอดทั้งปี 2556 จะพบว่า จำนวนโครงการลดลงไป 163 โครงการ แต่หากคิดมูลค่าเงินลงทุนจะสูงกว่าอยู่ประมาณ 5.435 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าเกินเป้าหมายที่บีโอไอวางไว้ตั้งแต่ต้นปีมาก ที่ขณะนั้นประมาณไว้ที่ 7 แสนล้านบาท จากสถานการณ์ทางการเมืองไม่เอื้ออำนวย นักลงทุนไม่มีความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุน เห็นได้จากยอดขอรับส่งเสริมในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมามีจำนวน 1.388 พันโครงการ เงินลงทุนรวม 7.662 แสนล้านบาทเท่านั้น     

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับจำนวนโครงการที่ขอส่งเสริมจำแนกตามประเภทกิจการ 7 ประเภทพบว่า อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภคมีการยื่นขอสูงสุด 475 โครงการ มูลค่าลงทุน 3.42 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งจำนวน 369 โครงการ มูลค่า 2.416 แสนล้านบาท เกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตรจำนวน 340 โครงการ มูลค่า 1.118 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 275 โครงการ มูลค่า 7.925 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมเคมี กระดาษ และพลาสติก 253 โครงการ มูลค่า 1.989 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมเบา 71 โครงการ มูลค่า 2.83 หมื่นล้านบาท และอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เซรามิก และโลหะขั้นมูลฐาน 65 โครงการ มูลค่า 6.81  หมื่นล้านบาท โดยยังเป็นผู้ประกอบการไทยที่เข้ามาลงทุนเป็นอันอับ 1 รองลงมา เป็น ญี่ปุ่น และยุโรป เป็นต้น   

ขณะที่ยอดอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอในรอบปี 2557 อยู่ที่ประมาณ 1.486 พันโครงการ เงินลงทุนกว่า 6.56 แสนล้านบาท    

ส่วนในปี 2558 เมื่อยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว เชื่อว่าในระยะครึ่งปีแรกของปี 2558 คาดว่าจะมีนักลงทุนเข้ามายื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนน้อยลง เนื่องจากได้ทำการยื่นขอในช่วงเดือนธันวาคม 2557 ไปเป็นจำนวนมากแล้ว และนักลงทุนยังต้องใช้เวลาปรับตัวที่จะทำความเข้าใจกับสิทธิประโยชน์ใหม่ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งในปี 2558 นี้ ทางบีโอไอคงไม่ได้วางเป้าหมายที่จะดึงเม็ดเงินเข้ามาลงทุนว่าจะอยู่ในระดับเท่าใด แต่จะคำนึงถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายที่วางไว้จะเข้ามาลงทุนมากน้อยเพียงใดเป็นหลัก ซึ่งยอมรับว่าจะต้องทำงานหนักมากขึ้น    

ด้านนางซ่อนกลิ่น พลอยมี ผู้อำนวยการหน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (หน่วย build) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ในการรองรับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ของบีโอไอ ทางหน่วยงานจะต้องเร่งรีบจัดทำฐานข้อมูลในการเชื่อมโยงธุรกิจที่จะเจาะลึกรายบริษัท เพื่อเชื่อมโยงธุรกิจและการซื้อขายให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและย่อมหรือเอสเอ็มอี โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นเป้าหมายของเอสเอ็มอีต่างประเทศที่จะเข้ามาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching ) กับไทย โดยเฉพาะญี่ปุ่น จีน และออสเตรเลีย

เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า นักลงทุนเอสเอ็มอีที่จะเข้ามาลงทุน มีปัญหาว่าไม่สามารถหาพันธมิตรร่วมทุนที่เป็นคนไทยได้ หากบีโอไอสามารถเสริมในจุดนี้ได้ จะเป็นการช่วยดึงนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาได้มากขึ้น เพราะมองว่าการจัดงานซับคอน ไทยแลนด์ ที่จะจัดขึ้นช่วงเดือนพฤษภาคม 2558 ที่เป็นงานให้นักลงทุนและผู้ผลิตมาเจอกัน และจับคู่ธุรกิจซื้อขายกันคงไม่เพียงพอ เพราะแต่ละปีก่อให้เกิดการเชื่อมโยงธุรกิจเพียง 4-5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 3,013  วันที่  28 - 31 ธันวาคม  พ.ศ. 2557

ข่าวอื่นๆ

+ แผนผังเว็บไซต์ แผนผังเว็บไซต์

ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล
สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย


อาคารสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา ชั้น 1-2
ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 แขวงพระโขนง
เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110 (แผนที่)
โทรศัพท์ 02-7136290-2, 02-713-6547-50, 02-7124402-7 ต่อ 211-213


ภายใต้งบประมาณการสนับสนุน
จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
Copyright © 2015 Iron and Steel Institute of Thailand.