ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ "เกาะกระแส World Cup 2014 : ฉายภาพการค้า-การท่องเที่ยวระหว่างไทย-บราซิล"
ประเด็นสำคัญ
• บราซิลเป็นปลายทางสินค้าอันดับ 1 ของไทยในลาตินอเมริกา เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงด้วยเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก และมีประชากรอันดับ 5 ของโลกราว 200 ล้านคน (ในปี 2556) แม้เศรษฐกิจบราซิลในปี 2557 มีสัญญาณอ่อนแรงลงจากแรงฉุดของภาวะเงินเฟ้อในระดับสูงที่กระทบการใช้จ่ายใน ประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มหกรรมฟุตบอลโลกในครั้งนี้น่าจะมีส่วนกระตุ้นการใช้จ่ายและเม็ดเงินจากการ ท่องเที่ยวซึ่งจะช่วยประคองเศรษฐกิจโดยรวม รวมทั้งพยุงให้การส่งออกของไทยไปบราซิลหดตัวไม่รุนแรงนัก โดยคาดว่าอาจมีมูลค่าราว 2,100 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2557
• ไทยเป็นคู่ค้าของบราซิลที่โดดเด่นที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน สะท้อนศักยภาพแข็งแกร่งต่อยอดการค้าในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะกลุ่มอาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป และกล้วยไม้ แม้มีมูลค่าน้อยแต่บราซิลนำเข้าสินค้าจากไทยติดอันดับ 1 ใน 3 ของการนำเข้าในแต่ละกลุ่มสินค้า สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทยอื่นๆ ได้แก่ ยานยนต์และส่วนประกอบ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกล จักรยานยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องยนต์สันดาป เป็นต้น นอกจากการค้าขายโดยตรงกับบราซิลแล้ว บราซิลยังเป็นประตูขยายความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ของไทยเข้าสู่ประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกา
• ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวชาวบราซิลที่เดินทางมาไทยมีจำนวนไม่มากนัก แต่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูงโดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดย รวมในไทยราวร้อยละ 30.3 สะท้อนศักยภาพการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวบราซิลที่น่าสนใจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2557 นี้ นักท่องเที่ยวชาวบราซิลน่าจะเดินทางมาเที่ยวไทยต่อเนื่องมียอดนักท่องเที่ยว สูงถึง 46,500 คน สร้างรายได้สะพัดสู่ธุรกิจในไทยแตะมูลค่า 2,600 ล้านบาท
World Cup 2014 เปิดฉากขึ้นที่ประเทศบราซิล ระหว่างวันที่ 12 มิถุนายน -13 กรกฎาคม เป็นอีกครั้งหนึ่งที่บราซิลได้รับเกียรติจัดมหกรรมฟุตบอลโลกเป็นครั้งที่ 2 จากที่เคยจัดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2493 ความคึกคักของมหกรรมกีฬาระดับโลกเกิดขึ้นท่ามกลางโจทย์เงินเฟ้อที่กระทบต่อ การเติบโตทางเศรษฐกิจบราซิลอันเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดใน กลุ่มลาตินอเมริกา และเป็นปลายทางการส่งออกสินค้าอันดับ 1 ของไทยในกลุ่มลาตินอเมริกา อีกทั้งบราซิลยังเป็นแหล่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพน่าสนใจ ของไทย การรุกกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันด้านต่างๆ น่าจะเอื้อประโยชน์ต่อยอดความสัมพันธ์สู่ประเทศอื่นๆ ในลาตินอเมริกาได้อีกทาง
บราซิลศูนย์กลางเศรษฐกิจในกลุ่มลาตินอเมริกา ... โอกาสสินค้าไทย
บราซิลเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจและมีตลาดขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มลาตินอเม ริกา อีกทั้งเป็นศูนย์กลางการผลิตและกระจายสินค้าที่สำคัญ จึงเปรียบเสมือนเป็นประตูการค้าหลักก่อนจะกระจายสินค้าสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยมีจีน สหรัฐฯ และอาร์เจนตินา เป็นคู่ค้าหลักที่สำคัญครองสัดส่วนการค้ารวมร้อยละ 38.8 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของบราซิล ขณะที่บทบาทการค้าของไทยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.86 เท่านั้น เนื่องจากความห่างไกลของภูมิประเทศและเส้นทางขนส่งระหว่างกัน แต่กระนั้น เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนแล้วไทยก็นับเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของบราซิลในกลุ่มอาเซียน มีมูลค่าการค้ารวม 1.24 พันล้านดอลลาร์ฯ ตามมาด้วยมาเลเซียและสิงคโปร์มีมูลค่าการค้าใกล้เคียงกันที่ 1.18 ล้านดอลลาร์ฯ จึงอาจเรียกได้ว่าไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในการเปิดประตูการค้ากับประเทศที่ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในลาตินอเมริกา

สินค้าไทยมีศักยภาพเข้าสู่ประเทศบราซิลเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน กระนั้น ภาวะเงินเฟ้อในประเทศเป็นประเด็นท้าทายเศรษฐกิจบราซิลอย่างมากในขณะนี้ ซึ่งอาจฉุดเศรษฐกิจและการบริโภคในประเทศให้ชะลอลงอีก จากที่เศรษฐกิจบราซิลในไตรมาส 1/2557 เติบโตร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเติบโตร้อยละ 2.5 ในปี 2556 โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2557 อยู่ที่ร้อยละ 6.37 ใกล้แตะกรอบบนของเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางบราซิลที่ร้อยละ 2.5-6.5 การเร่งขึ้นของเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าอาจเป็นแรงฉุดเศรษฐกิจบราซิลในช่วงที่ เหลือของปี ส่งผลต่อการนำเข้าของบราซิลหดตัวต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 3.5 (YoY) ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2557 และอาจกระทบต่อการส่งออกของไทยไปบราซิลในระยะข้างหน้าได้ หลังจากที่ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่าส่งออก 630 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวร้อยละ 15.4 (YoY) อย่างไรก็ดี World Cup 2014 น่าจะช่วยหนุนภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในบราซิลให้ขยายตัวได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงหนุนความต้องการสินค้าไทยให้ปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกของไทยไปบราซิลในปีนี้อาจมีมูลค่าราว 2,100 ล้านดอลลาร์ฯ แม้ลดลงจากปีก่อนหน้า (คาดว่าจะลดลงราวร้อยละ 6-7) แต่บราซิลจะยังคงเป็นปลายทางการส่งออกที่สำคัญของไทยในลาตินอเมริกา และอาจอาศัยบราซิลเป็นฐานกระจายสินค้าไทยได้อีกทางหนึ่ง
อาหารทะเลกระป๋อง และกล้วยไม้ของไทยมีศักยภาพสูงในบราซิล
ในด้านความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างบราซิลต่อไทยมีค่อนข้างน้อยเช่นกัน โดยบราซิลเป็นคู่ค้าอันดับที่ 28 ของไทย ซึ่งมีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและในปี 2556 เป็นปีแรกที่ไทยได้เปรียบดุลการค้ากับบราซิลสะท้อนว่าสินค้าไทยทำตลาดใน บราซิลได้มากขึ้น โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่าการค้ารวม 1.12 พันล้านดอลลาร์ฯ เป็นการนำเข้า 490 ล้านดอลลาร์ฯ และการส่งออกมีมูลค่า 630 ล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ มหกรรมฟุตบอลโลกในครั้งนี้ อานิสงส์ทำให้สินค้าส่งออกบางกลุ่มของไทยที่เกี่ยวเนื่องกับเสื้อผ้าและ อุปกรณ์กีฬาของไทยเติบโตค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกลุ่มเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มเติบโตถึง 2 เท่าตัว และรองเท้ากีฬาขยายตัวถึงร้อยละ 63 ซึ่งสวนทางกับการส่งออกสินค้าอื่นๆ ของไทยที่ค่อนข้างชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจบราซิล

ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ สินค้าบางรายการของไทยแม้มีมูลค่าส่งออกไม่มากนัก แต่มีศักยภาพโดดเด่นเนื่องจากเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งบราซิล ผลิตได้น้อย ในขณะที่ไทยมีความสามารถในการผลิตจนกระทั่งสินค้าไทยสามารถชิงส่วนแบ่ง พื้นที่การนำเข้าของบราซิลจากต่างประเทศติดอันดับ 1 ใน 3 ของสินค้าในหมวดนั้นๆ ของบราซิล ได้แก่ กลุ่มอาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูปที่ไทยมีชื่อเสียงในการผลิตและส่งออกอยู่แล้ว (มีสัดส่วนถึงร้อยละ 26.1 ของการนำเข้าอาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูปของบราซิล) ตามมาด้วยกล้วยไม้ของไทย (สัดส่วนร้อยละ 10 ของการนำเข้ากล้วยไม้ของบราซิล) และสินค้าในหมวดยางพาราและผลิตภัณฑ์ (สัดส่วนร้อยละ 7.9 ของการนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ของบราซิล) ซึ่งการทำตลาดของสินค้าดังกล่าวอาจใช้เป็นช่องทางเปิดตลาดสู่สินค้าหมวดอื่น ของไทยได้

ขณะที่สินค้าส่งออกหลักของไทยไปบราซิล อยู่ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับภาคการผลิตของบราซิล โดยบราซิลเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มรถยนต์นั่ง รถบรรทุกและรถโดยสาร และรถยนต์ส่วนใหญ่เป็นสัญชาติอิตาลี เยอรมนี และสหรัฐฯ ที่มีการแข่งขันสูง โดยที่ในขณะนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ของบราซิลกำลังเผชิญแรงกดดันด้านอัตราเงิน เฟ้อและกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแรง ทำให้ในไตรมาส 1/2557 มียอดการผลิตรถยนต์อยู่ที่ 789,900 คัน ลดลงร้อยละ 8.4 (YoY) มีส่วนกระทบต่อสินค้าในกลุ่มยานยนต์ของไทยให้ชะลอตัวตาม อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องยนต์สันดาป และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่สินค้าอื่นๆที่สำคัญของไทยและทำตลาดได้ต่อเนื่อง ได้แก่ เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกล เหล็ก คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และข้าว เป็นต้น
นักท่องเที่ยวชาวบราซิลมีกำลังซื้อสูง...คาดปี’57 สร้างรายได้ 2,600 ล้านบาท
บราซิลนอกจากจะเป็นช่องทางสร้างรายได้จากการส่งออกที่สำคัญของไทยในลาตินอ เมริกาแล้ว ในอีกด้านหนึ่งนักท่องเที่ยวบราซิลยังเป็นแหล่งรายได้ที่น่าสนใจของไทย โดยนักท่องเที่ยวชาวบราซิลจัดเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง มีค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวในไทยเฉลี่ยคนละประมาณ 57,355 บาท/ทริป ซึ่งสูงกว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมของไทย (เฉลี่ยคนละประมาณ 44,016 บาท/ทริป) ถึงร้อยละ 30.3 แม้นักท่องเที่ยวชาวบราซิลจะจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับชาติอื่น โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2557 มีนักท่องเที่ยวชาวบราซิลเดินทางมายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 18,241 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.1 เมื่อเทียบกับช่วยเดียวกันของปีก่อน (YoY)
การท่องเที่ยวระหว่างไทยกับบราซิลสะดวกมากขึ้น นับจากมีความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางธรรมดาระหว่างไทยกับ บราซิล (การยกเว้นวีซ่าระหว่างไทย-บราซิล) ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถพำนักได้นานสูงสุด 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นมา ช่วยโน้มนำนักท่องเที่ยวชาวบราซิลมาเที่ยวไทยมากขึ้นถึง 7 เท่าตัว จากจำนวน 5,298 คน ในปี 2542 มาแตะที่จำนวน 37,263 คน ในปี 2556 และสร้างรายได้ท่องเที่ยวให้ไทยเพิ่มขึ้นกว่า 14 เท่าตัวจากที่มีมูลค่า 138 ล้านบาทในปี 2542 เป็นประมาณ 2,000 ล้านบาทในปี 2556
ถึงแม้ว่าระยะทางระหว่างไทยกับบราซิลจะค่อนข้างไกลแต่ด้วยการเปิดเส้นทางการ บินของสายการบินต่างประเทศช่วยเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวระหว่างบราซิลกับ ตะวันออกกลางและเอเชีย ประกอบกับแรงขับเคลื่อนสำคัญจากมาตรการกระตุ้นตลาดในช่วงโลว์ซีซั่นของหน่วย งานภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนของไทย โดยส่งเสริมตลาดกลุ่มลาตินอเมริกาอย่างเข้มข้นมาตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2557 น่าจะเอื้อประโยชน์ดึงดูดนักท่องเที่ยวบราซิลมายังไทยเติบโตต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลอดทั้งปี 2557 มีนักท่องเที่ยวชาวบราซิลเดินทางมายังประเทศไทยสูงถึง 46,500 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.8 จากปีที่แล้ว และสร้างรายได้สะพัดสู่ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวของไทยคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,600 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวในอัตราร้อยละ 30.0 (YoY)
โดยสรุป จากการเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมฟุตบอลโลกครั้งที่ 20 ที่ประเทศบราซิลในครั้งนี้ Euromonitor International คาดการณ์ว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าบราซิลในปี 2557 แตะจำนวน 6.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 10.1 ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศและเสริมเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจบราซิล ที่ธนาคารกลางบราซิลมองว่าจะเติบโตร้อยละ 1.5 ในปี 2557 ก่ออานิสงส์ต่อสินค้าไทยหลายกลุ่มสินค้า ให้มีโอกาสทำตลาดได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ มหกรรมฟุตบอลโลกยังช่วยให้นักธุรกิจไทยรู้จักบราซิลมากขึ้นในฐานะการเป็น ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก เป็นศูนย์กลางการผลิตและการบริโภคของภูมิภาคลาตินอเมริกา เพิ่มความน่าสนใจในการทำธุรกิจกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้า การลงทุนระหว่างกันในระยะข้างหน้า โดยอาศัยประโยชน์จากสินค้าไทยที่โดดเด่นในกลุ่มอาเซียน ซึ่งสามารถทำตลาดในบราซิลได้พร้อมทั้งมีเครือข่ายธุรกิจอยู่แล้วเป็นตัวนำ ตลาด โดยใช้ไทยเป็นศูนย์กลางรวบรวมสินค้าจากประเทศใกล้เคียงในอาเซียนแล้วส่งออก ต่อไปบราซิลได้อีกทางหนึ่ง ประกอบกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันที่เพิ่มขึ้นยังเอื้ออานิสงส์ ต่อธุรกิจท่องเที่ยวไทยเติบโตขยายตัวตามการเดินทางมาติดต่อธุรกิจในไทยใน ระยะข้างหน้า