
เศรษฐกิจของประเทศจะบ่งบอกถึงฐานะของประเทศในเวทีการเมืองระหว่างประเทศด้วย หากเศรษฐกิจไม่เจริญก้าวหน้ากลับถอยหลัง ย่อมสะท้อนภาพอีกด้านหนึ่งก็คือ จะด้อยฐานะในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หลายคนอาจจะไม่ได้สังเกตในช่วงที่ผ่านมา หรือสังเกตไม่พบเนื่องจากการสื่อสารของภาครัฐ มุ่งเน้นในการสร้างภาพความเมืองระหว่างประเทศให้กับไทย กลบเกลื่อนภาพที่แท้จริงของประเทศไทยในสายตาการเมืองโลก จึงทำให้เกิดความรู้สึกว่า เรายังมีความแข็งแกร่งทางด้านต่างประเทศ
เศรษฐกิจไทยตกต่ำมาอย่างต่อเนื่องได้ 3 ปีแล้วและปีนี้ตัวเลขก็ยังขยายตัวในอัตราต่ำมากเช่นเดิม ซึ่งปัญหานี้มีปัจจัยกระทบจริงๆ อยู่ 2 ประการ ประการแรกภัยธรรมชาติอันเกิดจากสาเหตุน้ำท่วมใหญ่เป็นประวัติศาสตร์ในรอบ 50 ปี เมื่อปี 2554 และประการที่ 2 คือ การเมืองภายในประเทศสร้างความปั่นป่วน จนกระทบกับความมั่นคงของชาติ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อการเมืองเข้าขั้นวิกฤติ ก็ยิ่งทำให้ประเทศไทยในเวทีการเมืองระหว่างประเทศตกต่ำลง เข้าทำนองที่ว่า "เศรษฐีเสียงดัง คนจนเงียบกริบ"
ประชากรก็มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาชาติบ้านเมือง หากคนไทยมีคุณภาพโดยส่วนใหญ่ ก็จะช่วยสร้าง ช่วยพัฒนาชาติให้เจริญรุ่งเรืองและนำพาเศรษฐกิจภายในประเทศเติบโตได้ แต่หากประชากรด้อยคุณภาพ แต่ "เสียงดัง" เพราะมีอำนาจรัฐให้การหนุนหลัง ชักจูงประเทศไทยในทางที่ไม่ถูก ละเมิดวินัยการเงินการคลัง ไม่คำนึงถึงฐานะแท้จริงของประเทศ ย่อมนำความวิบัติมาให้ จากกรณีที่รับจำนำข้าวกรณีเดียว ทำให้รัฐขาดทุนไปแล้วประมาณ 400,000 - 500,000 ล้านบาท ความเสียหายสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งความไม่พิจารณาตรึกตรองให้ดี ...รู้จักฉลาดที่จะเลือกข้างแต่ไม่เฉลียวใจเลยว่านั่นคือหนทางวิบัติ ก็ทำให้ชาติล่มจมได้
ตราบใดที่การเมืองไม่นิ่ง ธุรกิจก็ได้แต่ประคองตัว ไม่สามารถคิดอ่านอนาคตได้ วางแผนงานยากขึ้น แต่เมื่อการเมือง "นิ่ง" อย่างทุกวันนี้ เพราะการปฏิวัติโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เชื่อว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่พร้อมที่จะใช้ทุน เพิ่มทุน เพื่อสร้างผลผลิตเพิ่ม เครื่องจักรเศรษฐกิจทั้ง 3 ประการ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรด้านอุตสาหกรรมการผลิต เครื่องจักรทางด้านการผลิตทางการเกษตร และอุตสาหกรรมบริการ จึงเดินเครื่องต่อไปได้
เพียงแต่ว่าการปฏิวัติมีผลลบบ้างคือ การได้มาซึ่งอำนาจรัฐไม่ได้เป็นไปตามกลไกตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทำให้หลายประเทศต้องลดระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศลง เราต้องเสียสิทธิเสียเสียงในการสนับสนุนลงไปบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่หลายประเทศเคยประสบมาแล้ว รวมทั้งประเทศไทยก็เคยประสบมาก่อนด้วย
คสช.พยายามทำให้ปรากฏชัดว่า การยึดอำนาจครั้งนี้ทำด้วยความจำเป็น หาไม่จะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นได้ หากไม่ทำการยึดอำนาจวันนั้น... วันนี้ก็คงจะมีเสียงระเบิด เสียงปืนยิง M79 เสียงปืนดังเป็นระยะเกิดขึ้นทุกๆ วัน และในทุกๆ ที่ที่มีการชุมนุมของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ทุกวันนี้เสียงดังกล่าวสงบลงไปแล้ว
คนไทยไม่เคยมีประสบการณ์กับสงครามกลางเมืองมาก่อน เคยมีแต่ประสบการณ์การปราบปรามผู้ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุค "สงครามเย็น" คนไทยจึงยังนึกไม่ออกว่า หากเกิดสงครามกลางเมือง(อย่างที่หลายฝ่ายกลัวว่าจะเกิด)ขึ้นจะเป็นอย่างไร? คนไทยคงนึกว่าคงไม่มีอะไรมาก เดี๋ยวก็เปลี่ยนผ่าน !...หารู้ไม่ว่า การตัดสินใจนำชาติบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมือง ด้วยความคิดสั้นๆ นั้น จะตราตรึงความเศร้าหมองคนไทยไปชั่วกาลนานเลยทีเดียว ...ดีที่ คสช.ตัดสินใจยึดอำนาจและกวาดล้างคนที่มีแนวคิดดังกล่าวเสียก่อน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,955 วันที่ 8 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2557