เศรษฐกิจไทย..ถดถอยหรือไม่ : ปฏิญญา สิงห์พิสาร
เรียกได้ว่าเป็นทางออกของการแก้ปัญหาการเมืองได้แล้วหรือยัง หลังจากการประกาศกฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2557 เวลา 03.00 น. เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และนำความสงบสุขกลับคืนสู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยเร็ว
อาจจะถูกใจใครบ้าง ไม่ถูกใจใครบ้าง แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการลดความรุนแรงจากการปะทะของสอง ฝ่ายได้ แต่จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้หรือไม่ คงเป็นโจทย์อีกข้อที่ต้องติดตามต่อไป
เนื่องจากผลพวงสถานการณ์การเมืองที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายปี 2556 ได้ส่งผลกระทบแก่เศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก เห็นได้จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไตรมาสแรก ปี 2557 ติดลบ 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว จีดีพีในไตรมาสแรกปรับตัวลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ 2.1%
โดยเฉพาะจีดีพีที่ติดลบในไตรมาสแรก มีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของอุปสงค์ภาคเอกชนภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ส่วนปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไม่ลดลงมาก มี 2 ปัจจัย คือ การใช้จ่ายภาครัฐที่ยังคงมีการเบิกจ่ายเม็ดเงินงบประมาณของทั้งส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และการส่งออกเริ่มขยายตัว แต่ยังเป็นการฟื้นตัวที่ช้าและไม่เพียงพอที่จะชดเชยให้เศรษฐกิจโดยรวมขยาย ตัวได้
ด้านปัจจัยภายในประเทศที่ทำให้จีดีพีติดลบดังกล่าว คือ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลง 3.0% การลงทุนรวมลดลง 9.8% ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้น 2.9% โดยรวมแล้วอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ในไตรมาสแรกอยู่ที่ 19.1% ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 24%
อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์ยังได้เสนอแนะแนวทางให้การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือ ของปีนี้ ควรให้ความสำคัญกับการเร่งรัดการส่งออกให้สามารถขยายตัว โดยเฉพาะการเพิ่มรายได้จากตลาดหลักและตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ รวมทั้งการส่งเสริมการค้าชายแดนและการค้าในภูมิภาค ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว เช่น การสร้างความเชื่อมั่นและการกระตุ้นตลาดให้มากขึ้น นอกจากนี้ ต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน และเตรียมความพร้อมของกระบวนการงบประมาณประจำปี 2558 ด้วย
ทั้งนี้ ควรให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูบรรยากาศทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการดำเนินนโยบายการเงินที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างต่อเนื่อง การสร้างความเชื่อมั่นด้วยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ถูก ต้องและทันต่อเหตุการณ์ พร้อมทั้งการเตรียมมาตรการรองรับผู้ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า หากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองยังคงยืดเยื้อ ไม่สามารถหาทางออกในการมีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ รวมทั้งหากภาคการส่งออกยังไม่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นชัดเจนในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า อาจต้องมีการทบทวนปรับลดประมาณการจีดีพีอีกครั้ง จากปัจจุบันคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้อยู่ที่ 1.8% (กรอบคาดการณ์ 1.3-2.4%) เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและความล่าช้าในการฟื้นตัวของการส่ง ออก ส่งผลกดดันให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปีนี้หดตัวลงถึง 2.1% จากไตรมาสก่อนหน้า และหดตัว 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทางด้านผลกระทบจากการประกาศกฎอัยการศึก ทำให้ตลาดหุ้นไทยเปิดตลาดร่วง 20.43 จุด ซึ่งบทวิเคราะห์ของ บล.เอเชียพลัส (ASP) ระบุว่า การประกาศกฎอัยการศึก จะมีผลต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทย โดยจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ สะท้อนได้จากค่าเงินบาทที่กลับมาอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว จาก 32.43 บาท เป็น 32.62 บาท หรืออ่อนค่า 0.5% และน่าจะกดดันแรงขายในหุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องภาคท่องเที่ยว และลงทุนจากต่างประเทศ คือ FDI (ขนส่งทางอากาศ, นิคมอุตสาหกรรม) และการบริโภคในประเทศ เช่น สื่อโฆษณา เป็นต้น
เห็นได้ว่า ตัวเลขจีดีพีจริงที่สภาพัฒน์แถลงมานั้น เป็นตัวสะท้อนได้ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยกำลังอ่อนแรงลงเกือบทุกด้าน เนื่องจากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ เริ่มกระจายผลเป็นวงกว้างออกไป ซึ่งต้องมาลุ้นกันต่อว่า ในไตรมาสหน้าจะติดลบต่อเนื่องหรือไม่ และการประกาศกฎอัยการศึกจะช่วยได้มากแค่ไหน เพราะสภาพทางเศรษฐกิจขณะนี้แสดงให้เห็นว่าเริ่มนับถอยหลังเข้าสู่ภาวะถดถอย อย่างสมบูรณ์นั่นเอง.