
การส่งออกเดือนมี.ค. 2557มีมูลค่า 19,940.2ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวลงร้อยละ 3.12 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 2.43 (YoY) ในเดือนก.พ. โดยการส่งออกไปยังตลาด G3และตะวันออกกลางที่ขยายตัว (สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.6 YoY สหภาพยุโรปขยายตัวร้อยละ 3.0 YoY ญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 1.6 YoY และตะวันออกกลางขยายตัวร้อยละ 1.30 YoY) ถูกลดทอนภาพบวกลงด้วยคำสั่งซื้อที่ยังลดน้อยลงจากตลาดสำคัญหลายตลาด โดยเฉพาะจีน (หดตัวร้อยละ 11.2 YoY) อาเซียน-5 (หดตัวร้อยละ 16.3 YoY) และออสเตรเลีย (หดตัวร้อยละ 24.1 YoY) ขณะที่ การส่งออกไปยังกลุ่ม CLMV ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาที่ร้อยละ 0.7 (YoY) เนื่องจากฐานที่สูงในปีก่อน ในด้านสินค้าส่งออกนั้น การส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร ยังหดตัวต่อเนื่องนับจากต้นปี อีกร้อยละ 6.7 (YoY) นำโดย การส่งออกยางพารา กุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง ไก่แปรรูป และอาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป ขณะที่ ฐานเปรียบเทียบที่สูงในช่วงเดียวกันปีก่อน กดดันให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวลงเช่นกันที่ร้อยละ 0.79 (YoY) นำโดย สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เหล็ก/ผลิตภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป รวมทั้งสินค้าขั้นกลางบางชนิด อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาง และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกสำคัญของไทยอื่นๆ อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ไก่สดแช่เย็น/แช่แข็ง รถยนต์นั่ง/ส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ด/ผลิตภัณฑ์พลาสติก ยังขยายตัวได้ในเดือน มี.ค.
ภาพการฟื้นตัวที่ยังไม่ชัดเจนของสินค้า/ตลาดส่งออกสำคัญหลายรายการดังกล่าว ข้างต้น ฉุดให้ภาพรวมการส่งออกในช่วงไตรมาส 1/2557หดตัวลงที่ร้อยละ 1.00 (YoY) ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 1.03 (YoY) ไตรมาส 4/2556โดยหากไม่นับรวมการส่งออกทองคำที่ค่อนข้างผันผวนตามสถานการณ์ราคาใน ตลาดโลกแล้ว การส่งออกของไทยหดตัวลงถึงร้อยละ 2.8 (YoY) ซึ่งคงต้องยอมรับว่า ภาคการส่งออกของไทยยังคงอยู่ในสภาวะที่ท้าทายต่อเส้นทางการฟื้นตัว
แม้สัญญาณการฟื้นตัวของการส่งออกในไตรมาส 1/57ยังไม่ชัดเจน แต่เริ่มมีภาพบวกในกลุ่มสินค้าความหวังหลายรายการ จากภาพรวมนับจากต้นปี 2557มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตรที่ยังคงหดตัว ได้ลบล้างภาพบวกของการเริ่มฟื้นตัวในสินค้าอุตสาหกรรมส่งออก อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณากลุ่มสินค้าที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าน่าจะเริ่มมีทิศทาง ที่ดีขึ้นในปีนี้ พบว่า เริ่มมีสัญญาณบวกในบางตลาด/สินค้าส่งออก ขณะที่ สินค้าบางรายการยังคงอยู่ในช่วงรอสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนในช่วงเข้าสู่ ฤดูกาลผลิต/จัดจำหน่ายประจำปี ซึ่งหากว่า ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ภาพต่างๆ ทยอยปรากฏชัดเจนมากขึ้น ก็น่าจะช่วยเสริมให้ภาพรวมการส่งออกไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ มีแนวโน้มสดใสมากขึ้นเช่นกัน โดยกลุ่มสินค้าดังกล่าว มีดังนี้
กลุ่มสินค้าที่มีภาพทยอยฟื้นตัวจากช่วงหลายเดือนก่อนหน้า ได้แก่ สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ประเภทแผงวงจรไฟฟ้าและวงจรพิมพ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะโทรทัศน์และเครื่องปรับอากาศ รถยนต์นั่ง/ส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งสินค้าทุน/สินค้าขั้นกลางประเภทเครื่องจักรกล/อุปกรณ์ และเม็ดพลาสติก/ผลิตภัณฑ์พลาสติก โดยได้รับอานิสงส์จากคำสั่งซื้อในตลาด CLMV ตลาดตะวันออกกลาง และการฟื้นตัวของคำสั่งซื้อในตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งการส่งออกไปยังตลาด G3ที่สดใสนี้ ก็ทำให้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภทคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์ สามารถบันทึกอัตราการขยายตัวได้เช่นกัน ขณะที่ การส่งออกสินค้าเกษตร ได้แก่ มันสำปะหลังและข้าว ก็เติบโตดีตามคาดจากอุปสงค์ในจีนที่ยังเติบโตต่อเนื่อง และการส่งออกไปยังบางประเทศในกลุ่มอาเซียน และประเทศในทวีปแอฟริกาที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามว่า สินค้าในกลุ่มนี้จะยังสามารถรักษาทิศทางการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เนื่องจากคำสั่งซื้อสินค้าในบางหมวดอาจได้รับอานิสงส์จากปัจจัยเชิงฤดูกาล ที่ทำให้การส่งออกมีการเร่งตัวขึ้นในบางเดือนของไตรมาสแรกของปี กลุ่มสินค้าที่ต้องรอคอยสัญญาณบวกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ได้แก่ สินค้าในกลุ่มเครื่องประดับเงิน/ทอง และเครื่องประดับเทียม ที่ยังคงหดตัวตามการส่งออกไปยังตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่ถูกกระทบจากการตัดสิทธิ์ GSP เต็มรูปแบบที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา (แม้ว่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มอัญมณี/เครื่องประดับในภาพรวมจะขยายตัวใน ระดับสูงจากผลของการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้น) สินค้าขั้นกลางประเภทเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และด้าย/ผ้าผืนที่หดตัวตามแรงฉุดของการส่งออกไปยังตลาดจีนที่เศรษฐกิจใน ประเทศกำลังชะลอตัว รวมทั้งสินค้าเกษตร/เกษตรแปรรูป เนื่องจากติดปัญหาด้านอุปทานวัตถุดิบ ทำให้การส่งออกกุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง และอาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป ยังคงหดตัว เช่นเดียวกับไก่แปรรูป และไก่สดแช่เย็น/แช่แข็งที่ยังต้องรอการฟื้นกำลังซื้ออย่างเต็มที่ในตลาด สหภาพยุโรป รวมทั้งอยู่ในช่วงเริ่มต้นทำตลาดในญี่ปุ่นและสิงคโปร์
โดยสรุป แม้การส่งออกของไทยในไตรมาส 1/2557ยังคงหดตัวร้อยละ 1.00 (YoY) ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ 1.03 (YoY) อย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกสำคัญหลายรายการเริ่มมีสัญญาณบวกของการฟื้นตัวท่ามกลางอานิสงส์ จากตลาดศักยภาพอย่าง CLMV ตะวันออกกลาง รวมทั้งการค่อยๆ ฟื้นคืนมาของกำลังซื้อในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญหลายรายการ ทั้ง คอมพิวเตอร์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์นั่ง/ส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่มรวม เม็ด/ผลิตภัณฑ์พลาสติก ยังสามารถบันทึกอัตราการเติบโตได้ในช่วงที่ผ่านมา และน่าจะสามารถเป็นแรงเสริมที่ช่วยให้ภาคการส่งออกของไทยสามารถปรับตัวดี ขึ้นได้ในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการอัตราการเติบโตของการส่งออกในปี 2557 ไว้ที่ร้อยละ 5.0 (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 3.0-6.0) ในขณะนี้ โดยอาจมีการทบทวนประมาณการอีกครั้ง หากสถานการณ์การส่งออกในช่วงไตรมาส 2/2557 ไม่ทยอยปรับตัวดีขึ้นตามที่คาด เนื่องจากคงต้องยอมรับว่า เส้นทางการฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า อาจต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายทั้งจากความไม่แน่นอนของอุปสงค์จากประเทศ คู่ค้าหลัก โดยเฉพาะความตึงเครียดมากขึ้นระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตก รวมทั้งเศรษฐกิจจีนที่ยังมีทิศทางชะลอตัว ซึ่งไม่เพียงจะกดดันให้คำสั่งซื้อสินค้าจากไทยฟื้นตัวล่าช้าแล้ว ยังอาจมีผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกหลายตัวด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ภาวะการแข่งขันจากประเทศคู่แข่ง ปัญหาด้านอุปทาน/วัตถุดิบการผลิตของสินค้าส่งออกบางรายการ รวมทั้งประเด็นความเชื่อมั่นของคู่ค้าต่างประเทศในการผลิต/ส่งมอบสินค้าของ ผู้ประกอบการไทย ก็ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการในภาคการส่งออกจำเป็นต้องเตรียมพร้อมในการปรับ กลยุทธ์ เพื่อรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ยังอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดในช่วงที่ เหลือของปีนับจากนี้ไป