สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.)
ผู้ประกอบการ

สศค.เผย ศก.ทรุด ม็อบฉุดตัวเลขเดือน ม.ค. ดิ่งเหว
11/03/2014
ข่าวเศรษฐกิจ

http://www.naewna.com/uploads/news/source/92629.gif

27 ก.พ.57 นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค.2557 ยังคงมีสัญญาณชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการใช้จ่ายภายในประเทศและการผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้ากลับมาหดตัวเล็กน้อยแต่การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลักสามารถขยายตัวได้ดี

ด้านการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง สะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนม.ค. 2557 หดตัวต่อเนื่องที่ -55.9% ต่อปี  ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวทั้งจากในส่วนภูมิภาคและในเขต กทม. โดยภาพรวมในเดือนม.ค.2557 หดตัว -30.3% ต่อปี

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนม.ค.2556 อยู่ที่ระดับ 61.4% และถือเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 26 เดือน นับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2554 เนื่องจากผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย

ส่วนยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ยังคงขยายตัวได้ 2.7% ต่อปี ส่วนหนึ่งมาจากฐานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ต่ำในเดือนมกราคม 2557

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณหดตัวลงทั้งในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและ การก่อสร้าง โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนหดตัว -19.3% ต่อปี และปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัว -36.2% ต่อปี

ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้าง วัดภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนม.ค. 2557 หดตัว -5.5% ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 9.1% ต่อปี สะท้อนถึงภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มหดตัว

ด้านภาคการส่งออกสินค้าของไทยหดตัว -2.0% ต่อปี จากการส่งออกไปยังตลาดส่งออกในภูมิภาค เช่น ตลาดออสเตรเลีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกง ที่หดตัว -24.2% -20.2%  -18.4% และ -14.0% ต่อปี ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยเหลื่อมเดือนของเทศกาลตรุษจีนที่ตรงกับเดือน ม.ค.ในปีนี้และก.พ.ในปีที่แล้ว

นายสมชัย กล่าวว่า การส่งออกไปยังตลาดประเทศคู่ค้าหลักยังคงขยายตัวได้เล็กน้อย โดยเฉพาะจากยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาที่ขยายตัว 4.6% 1.8% และ 0.4% ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งส่งผลให้สินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัวได้ดีที่ 6.5%  และ 7.8% ต่อปี ตามลำดับ

ด้านภาคการผลิตมีสัญญาณหดตัว สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเบื้องต้นในเดือนม.ค. 2557 หดตัวที่ -6.4% ต่อปี โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัวในระดับสูง ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ ยานยนต์ และ อาหาร ที่หดตัว -26.5% -35.7% และ -9.0% ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ และวิทยุโทรทัศน์ ที่ขยายตัว 3.8% และ 1.6% ต่อปี ตามลำดับ

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 55 เดือน โดยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 86.9% เนื่องจากความกังวลของผู้ประกอบการที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ภาคบริการสะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนม.ค. 2557  มีจำนวน 2.3 ล้านคน ขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.1% ต่อปี

สำหรับเครื่องชี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศล่าสุดในเดือนก.พ. 2557 ซึ่งวัดจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในช่วง 1- 24 ก.พ. 2557 หดตัวที่ -19.6% ต่อปี สะท้อนผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ซึ่งทำให้ 48 ประเทศ ที่มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยประมาณ 92% ประกาศเตือนการเดินทางเข้าประเทศไทย 

ข่าวอื่นๆ

+ แผนผังเว็บไซต์ แผนผังเว็บไซต์

ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล
สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย


อาคารสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา ชั้น 1-2
ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 แขวงพระโขนง
เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110 (แผนที่)
โทรศัพท์ 02-7136290-2, 02-713-6547-50, 02-7124402-7 ต่อ 211-213


ภายใต้งบประมาณการสนับสนุน
จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
Copyright © 2015 Iron and Steel Institute of Thailand.