หลังจากที่ฟอร์ด มอเตอร์ และเจเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) 2 บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ประกาศถอนฐานการผลิตออกจากออสเตรเลียภายในปี 2559 และ 2560 ตามลำดับ เพียงแค่ไม่กี่เดือนให้หลัง โตโยต้า ค่ายรถยนต์รายใหญ่สุดของญี่ปุ่นก็ประกาศยุติการผลิตในออสเตรเลียภายใน 3 ปีข้างหน้าเช่นกัน เป็นที่คาดหมายว่าเฉพาะแผนการของทั้ง 3 ค่ายรถยนต์รายใหญ่นี้ เมื่อยุติการผลิตลงไปก็จะส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงานของบุคลากรของบริษัทจำนวนรวมๆ กันกว่า 6.6 พันคน นักวิเคราะห์หวั่นเศรษฐกิจถดถอยเป็นผลพวงตามมา

ก่อนหน้านั้นในปี 2551 มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ป. จากญี่ปุ่น ก็ยุติการผลิตในออสเตรเลียไปแล้ว นักวิเคราะห์ชี้ว่า การประกาศถอนยวงของโตโยต้าเป็นรายล่าสุด เท่ากับเป็นการปิดม่านอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในออสเตรเลียโดยทันที หลายเหตุปัจจัยที่ทำให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เหล่านี้ไม่สามารถยืนหยัดทานทนการผลิตในดินแดนดาวน์อันเดอร์ได้อีกต่อไป หลักๆ มาจากต้นทุนการผลิตที่สูงมากและการแข่งขันก็ขับเคี่ยวอย่างยิ่ง
ข้อมูลขององค์การผู้ผลิตรถยนต์ระหว่างประเทศ (IOMVM) ซึ่งเป็นข้อมูลปี 2555 ชี้ว่า ปริมาณการผลิตรถยนต์โดยรวมของบริษัทผู้ผลิตทุกๆ รายในประเทศออสเตรเลีย อยู่ที่ระดับ 1.78 แสนคันในปีดังกล่าว
เฉพาะในส่วนของโตโยต้า การยุติการผลิตจะส่งผลต่อพนักงานราว 2.5 พันคน นายแม็กซ์ ยาสุดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของโตโยต้า ออสเตรเลีย ระบุถึงเหตุผลของการตัดสินใจถอนการผลิตออกจากออสเตรเลีย คือ การแข่งขันที่สูงประกอบกับต้นทุนผลิตที่ทะยานขึ้นจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย "เราพยายามทำทุกทางที่จะทำได้เพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์ แต่ความเป็นจริงก็คือมีหลายเหตุปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา และนั่นก็ทำให้เราไม่สามารถคงการผลิตในออสเตรเลียได้อีกต่อไป"

ด้านนายอาคิโอะ โทโยดะ ประธานบริษัท โตโยต้า ประเทศญี่ปุ่น ได้เดินทางมาพบกับพนักงานในออสเตรเลียด้วยตัวเขาเองเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อประกาศข่าวน่าสะเทือนใจดังกล่าวแก่พนักงาน ทั้งนี้ โตโยต้าเข้ามาลงหลักปักฐานการผลิตอยู่ในตลาดออสเตรเลียย้อนไปเป็นเวลายาวนานถึง 50 ปี หรือตั้งแต่ปี 2506 โดยปัจจุบัน โตโยต้ารุ่นที่ผลิตอยู่ในออสเตรเลียได้แก่ คัมรี (Camry) คัมรีไฮบริด (Camry Hybrid) และออเรียน (Aurian) แต่หลังจากยุติการผลิตลงแล้ว บริษัทจะคงธุรกิจด้านการจัดจำหน่ายอยู่ภายในออสเตรเลียต่อไป
สื่อต่างประเทศรายงานว่า รัฐบาลออสเตรเลียได้พยายามให้เงินอุดหนุนแก่อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ภายในประเทศเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไปและรักษาการจ้างงานให้กับพนักงานซึ่งรวมทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนประกอบและอะไหล่ ก็มีจำนวนหลายหมื่นคนทั่วประเทศ เช่นกรณีของบริษัท จีเอ็มฯ ที่ผลิตรถยนต์โฮลเด้น (Holden) ในระยะ 11 ปีที่ผ่านมา ได้รับเงินสนับสนุนการผลิตจากออสเตรเลียเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ข่าวระบุว่า ก่อนหน้าการตัดสินใจยุติการผลิตของโตโยต้า บริษัทไม่ได้ยื่นขอความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลออสเตรเลียแต่อย่างใด
การที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายหลักๆ ประกาศทยอยปิดฐานการผลิตในออสเตรเลียทำให้เกิดความคาดหมายว่า เมื่อถึงเวลานั้น เศรษฐกิจในบางพื้นที่ของออสเตรเลียอาจตกสู่ภาวะถดถอย ในเบื้องต้น สหภาพแรงงานในออสเตรเลียประเมินว่า การถอนฐานการผลิตของโตโยต้า อาจทำให้เกิดการลอยแพพนักงานซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะพนักงานของโตโยต้า จำนวนสูงถึง 5 หมื่นคน และทำให้มูลค่าจีดีพีหายไป 1.9 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ
ศ.จอห์น สเปอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดแรงงาน นวัตกรรมและการวิจัยเชิงสังคมจากมหาวิทยาลัยอาเดเลดในออสเตรเลีย ประเมินสถานการณ์ว่า มีแรงงานถึง 2 แสนคนที่สุ่มเสี่ยงตกงาน เพราะรวมถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำอย่างธุรกิจบริการด้านขนส่ง โลจิสติกส์ และภาคบริการอื่นๆ รัฐที่เป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมรถยนต์ เช่น รัฐวิคทอเรียและเซาธ์ออสเตรเลีย อาจต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย จึงจำเป็นต้องปรับตัวและเตรียมการรองรับผลกระทบอย่างเร่งด่วน "นี่คือการสิ้นชีพของอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ในออสเตรเลีย ผลกระทบในด้านแรงงานจะรุนแรงมากจากการที่พนักงานซึ่งอยู่ในระบบจ้างงานระยะยาวมาเนิ่นนานต้องสูญเสียตำแหน่งงานและพบว่ามันยากที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลง การโยกย้ายงาน และหางานใหม่"
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,923 วันที่ 16 - 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557