ธนาคารกลางแห่งประเทศญี่ปุ่น (บีโอเจ) เปิดเผยล่าสุดว่าเริ่มมีสัญญาณเชิงบวกมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับความคืบหน้าของ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในนามของนโยบาย "อาเบะโนมิกส์" สะท้อนจากดัชนีหลายอย่างในภาคเศรษฐกิจ อาทิ ตัวเลขการสั่งซื้อเครื่องจักรกลเพื่อใช้ในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่ขยับสูงขึ้น และการลงทุนที่ขยับสูงขึ้นของภาคธุรกิจเอกชน บีโอเจระบุว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในครั้งนี้ เป็นการฟื้นตัวที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทำให้เชื่อว่าถึงแม้ในเดือนเมษายนจะมีการปรับขึ้นภาษีการบริโภค (consumption tax) แต่ก็จะไม่ทำให้การขยายตัวดังกล่าวต้องสะดุดหรือชะลอลง

นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการแบงก์ชาติของญี่ปุ่นเปิดเผยหลังการประชุมผู้จัดการสาขาย่อยเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า มีความคาดหมายว่าเศรษฐกิจจะยังคงทิศทางการฟื้นตัวต่อไปโดยมีการขยายตัวในระดับปานกลางแม้ว่าจะมีผลกระทบจากสถานการณ์ก่อนและหลังการขึ้นภาษีการบริโภคที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้
ในรายงานสรุปผลการสำรวจของบีโอเจ ที่เรียกกันว่ารายงานปกซากุระ (Sakura Report) คล้ายๆกับรายงานปกสีน้ำตาลอ่อน (Beige Book) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ซึ่งเป็นรายงานสรุปผลการประชุมของผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกลาง บีโอเจได้เพิ่มระดับความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นเกือบทุกพื้นที่มีการใช้คำว่า "ฟื้นตัว" หรือ "ฟื้นตัวพอประมาณ" เพื่ออธิบายสภาวะเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคของญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ ที่เริ่มมีการจัดทำรายงานดังกล่าวในปี 2548 เป็นต้นมา
สำหรับยอดการสั่งซื้อเครื่องจักรกลซึ่งถือเป็นดัชนีหลักชี้การลงทุนในภาคธุรกิจ ปรากฏว่าเพิ่มขึ้นถึง 9.3% ระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนที่ผ่านมา นับว่าเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับอัตรา 1.2% ที่เป็นตัวเลขคาดหมายของนักเศรษฐศาสตร์ที่เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล กับนิกเกอิร่วมกันสำรวจมา ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อมองในแง่มูลค่าการสั่งซื้อ แนวโน้มก็เป็นไปในทิศทางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมูลค่าการสั่งซื้อสูงเหนือระดับ 8 แสนล้านเยน (ประมาณ 7.6 พันล้านดอลลาร์) ต่อเดือน ติดต่อกันมาเป็นเวลา 4 เดือนแล้ว สถิติในเดือนพฤศจิกายน 2556 มูลค่าการสั่งซื้อเครื่องจักรทำระดับสูงสุดในรอบ 5 ปีที่กว่า 8.82 แสนล้านเยน
ทั้งนี้ก่อนที่จะมีการขึ้นภาษีการบริโภคจากอัตรา 5 % เป็น 8% ในเดือนเมษายนนี้ บีโอเจประเมินสถานการณ์ว่าการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะเพิ่มสูงขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งปัจจัยที่ช่วยเร่งการบริโภคเพิ่มขึ้นในระยะนี้ไม่ได้มีเหตุจากการจะปรับขึ้นภาษีเพียงเท่านั้น แต่ยังมีเหตุมาจากมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นและคนมีรายได้เพิ่มขึ้น
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ตัวเลขการจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะการซื้อสินค้าราคาแพง เช่น รถยนต์และที่พักอาศัย ก่อนที่จะมีการขึ้นภาษี อาจจะส่งผลทำให้ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ดูมีการขยายตัวเกินปกติ ฉะนั้น จึงเชื่อว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสเดือนเมษายน-มิถุนายนจะปรับตัวลดลงอย่างมาก แต่ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าหลังการปรับขึ้นภาษีซึ่งจะทำให้สินค้ามีราคาขยับสูงขึ้น ตัวแปรสำคัญที่จะช่วยลดทอนผลกระทบก็คือ การขึ้นค่าจ้างแรงงานเพื่อเสริมกำลังซื้อให้กับผู้บริโภค
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,915 วันที่ 19 - 22 มกราคม พ.ศ. 2557