สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.)
ผู้ประกอบการ

เมินม็อบขอตั้งโรงงานเพิ่ม
27/01/2014
ข่าวเศรษฐกิจ

กรมโรงงานฯ เผยเอกชนยังมั่นใจภาวะการลงทุน ยันการชุมนุมทางการเมืองไม่มีผลกระทบ ชี้ยอดขอตั้งโรงงานยังมีต่อเนื่อง ขณะที่การออกใบอนุญาตประกอบกิจการใหม่เดือนธันวาคมพุ่งที่ 379 ราย เงินลงทุน 2.4 หมื่นล้านบาท โดยภาพรวมทั้งปีมีโรงงานใหม่ 4.65 พันราย เงินลงทุนเพิ่ม 3.8 แสนล้านบาท

  นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากการชุมนุมทางการเมืองที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 เป็นต้นมา จนถึงขณะนี้ หากพิจารณาในภาพรวมยังไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของผู้ประกอบการทั้งในและ ต่างประเทศ โดยจะเห็นได้จากช่วงเดือนพฤศจิกายนมีการยื่นคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการใหม่ มายังกรมโรงงานฯ จำนวน 382 ราย  และธันวาคม จำนวน 383 ราย  และมีการยื่นคำขอขยายกิจการในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 83 ราย และธันวาคมอยู่ที่ 84 ราย
    "ในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมามีโรงงานที่ประกอบกิจการใหม่อยู่ที่ 379 ราย มูลค่าเงินลงทุน 2.422 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตโลหะขั้นมูลฐานมีเม็ดเงินสูงสุดที่ 3.95 พันล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เม็ดเงินลงทุน 2.96 พันล้านบาท กลุ่มผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ วงเงิน 2.54 พันล้านบาท แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร แม้จะมีจำนวนโรงงานที่ประกอบกิจการใหม่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับมูลค่าเงินลงทุนในช่วงเดียวกันของปี 2555 พบว่า ลดลงถึง 89.3% โดยมีเม็ดเงินลงทุนเพียง 1.279 พันล้านบาท ขณะที่ธันวาคม 2555 มีเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 1.196 หมื่นล้านบาท"  
    ขณะเดียวกันยังพบว่าในเดือนธันวาคม มีจำนวนโรงงานที่ขยายกิจการอยู่ที่ 33 ราย เงินลงทุน 1.373 หมื่นล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเพียง 5.9% หรือมีเม็ดเงินลงทุน 1.459 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการขยายกิจการของกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรและเครื่องกล มูลค่าเงินลงทุน 1.163 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นการขยายตัวค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ที่มีเม็ดเงินลงทุนเพียง 8.5 ล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก เงินลงทุน 472 ล้านบาท   เป็นต้น
    นายณัฐพล กล่าวอีกว่า ส่วนจำนวนโรงงานที่ขอเลิกกิจการในเดือนธันวาคม 2556 มีจำนวน 37 ราย เงินลงทุนเพียง 197.74 ล้านบาท กระทบต่อลูกจ้าง 1.03 พันคน ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ และผลิตภัณฑ์อโลหะ เป็นหลัก ซึ่งถือว่าปรับตัวลดลงถึง 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ที่มีการเลิกกิจการถึง 50 ราย วงเงินลงทุน 893 ล้านบาท มีการเลิกจ้างงาน 3.9 พันราย
    "หากสรุปภาพรวมของจำนวนโรงงานที่ประกอบกิจการใหม่ในรอบปี 2556 ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 4.65 พันราย มีเม็ดเงินลงทุน 3.80 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีเม็ดเงินลงทุน 2.13 แสนล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นถึง 78.27% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากพืชถึง 506 ราย เงินลงทุน 1.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีเม็ดเงินลงทุนสูงสุดจะอยู่ที่ในกลุ่มผลิตยาน พาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ วงเงินลงทุน 4.49 หมื่นล้านบาท จำนวนผู้ประกอบการ 377 ราย รองลงมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเม็ดเงินลงทุน 1.917 หมื่นล้านบาท ในจำนวน 292 ราย "
    ส่วนจำนวนโรงงานที่ขยายกิจการในปี 2556 มีทั้งสิ้น 643 ราย เงินลงทุน 1.357 แสนล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2555 ที่มีเม็ดเงินลงทุน 8.69 หมื่นล้านบาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 56 % ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากพืชถึง 102 ราย เม็ดเงินลงทุน 5.35 พันล้านบาท ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรและเครื่องกล จะมีเม็ดเงินลงทุนมากที่สุด 1.29 หมื่นล้านบาท ในจำนวนผู้ประกอบการ 23 ราย รองลงมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เม็ดเงินลงทุน 1.1 หมื่นล้านบาท ในจำนวน 94 ราย
    ขณะที่การเลิกกิจการในปี 2556 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.265 ราย เงินลงทุน 2.57 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปี 2555 ที่เลิกกิจการ 1.463 พันราย เงินลงทุน 3.76 หมื่นล้านบาท
    ทั้งนี้ มองว่าการที่ผู้ประกอบการยังให้ความสนใจในการลงทุนต่อเนื่อง เพราะจะตั้งโรงงานในต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ การชุมนุมทางการเมืองจึงไม่มีผลกระทบมากนัก ส่วนหลังจากนี้ไปจะเกิดการชะลอตัวในการขอประกอบกิจการใหม่หรือไม่นั้น คงต้องรอดูสถานการณ์ทางการเมืองว่าจะยืดเยื้อแค่ไหน ซึ่งจะเป็นปัจจัยต่อการตัดสินใจของผู้ประกอบการได้

  จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,915  วันที่  19 - 22  มกราคม  พ.ศ. 2557

 

ข่าวอื่นๆ

+ แผนผังเว็บไซต์ แผนผังเว็บไซต์

ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล
สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย


อาคารสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา ชั้น 1-2
ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 แขวงพระโขนง
เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110 (แผนที่)
โทรศัพท์ 02-7136290-2, 02-713-6547-50, 02-7124402-7 ต่อ 211-213


ภายใต้งบประมาณการสนับสนุน
จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
Copyright © 2015 Iron and Steel Institute of Thailand.