ในปี 2556 ที่ผ่านมา ภาคการส่งออกของไทยถือเป็นปีต้นร้าย-ปลายเหี่ยว เพราะตัวเลขส่งออกเดือนต่อเดือนลุ้นหืดจับ สรุปตัวเลขล่าสุด 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ของปี 2556 การส่งออกของไทยมีมูลค่า 2.10 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือติดลบที่ 0.49% ซึ่งเป้าหมายตัวเลขสุดท้าย ของกระทรวงพาณิชย์ที่ร่วมหารือกับเอกชนเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน คาดส่งออกไทยปี 2556 จะขยายตัวได้ที่ 1% จากปี 2555 ไทยส่งออกมูลค่า 2.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นั่นหมายความว่าในเดือนธันวาคม เดือนสุดท้ายของปีจะต้องทำยอดให้ได้ถึง 2.14 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงจะบรรลุเป้าขยายตัวที่ 1% แต่สรุปแล้วเป้าแค่ 1% ก็ยังเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะหากไปดูสถิติส่งออกรายเดือน 5 ปีย้อนหลังไม่มีแม้แต่เดือนเดียวที่สามารถทำได้ระดับ 2.14 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดีขึ้นต้นศักราชใหม่ กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกปี 2557 ในเบื้องต้นขยายตัวที่ 5%
+++ปัจจัยเสี่ยงยังเพียบ
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตัวเลขส่งออกปี 2557 ขยายตัว 5% เป็นตัวเลขที่ได้มีการหารือกับภาคเอกชนแล้ว แต่ยังเป็นห่วงถึงปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบที่มีอยู่มาก ทั้งกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า ค่าเงินบาทที่ยังมีความผันผวน การกีดกันการค้าในรูปแบบต่างๆ ปัญหาอุตสาหกรรมในประเทศเช่นผลผลิตกุ้งไทยที่ลดลงจากโรคตายด่วน ปัญหาการเมืองในตะวันออกกลาง และข้อพิพาทระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ปัญหาต้นทุนผู้ประกอบการที่สูงขึ้นจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ และต้นทุนด้านลอจิสติกส์ที่ยังสูง
"ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันฝ่าฟันอย่างเต็มที่ ทั้งนี้สินค้าที่ยังมีแนวโน้มการส่งออกที่ดีอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก ได้แก่ ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ วัสดุก่อสร้าง และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น"
+++เอกชนชี้โตได้ 1-5%
ขณะที่จากการสอบถามความเห็นผู้บริหารภาคเอกชนของ "ฐานเศรษฐกิจ" จาก 3 สถาบันหลัก ซึ่งถือเป็นตัวจริงที่ขับเคลื่อนการส่งออกในภาคปฏิบัติ ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ได้ข้อสรุปทิศทางแนวโน้มการส่งออกไทยปี 2557 จะขยายตัวได้ระหว่าง 1-5%
นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ ประธานคณะกรรมการความยั่งยืนทางธุรกิจ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า การส่งออกไทยปี 2557 คาดจะขยายตัวได้เพียง 1% จากปี 2556 คาดจะขยายตัว 0-0.25% เพราะมีปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวก สำหรับปัจจัยบวก คือเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น ซึ่งเป็น 3 ตลาดหลักของไทยเริ่มฟื้นตัว แต่ด้านปัจจัยลบจะมีมากกว่าที่สำคัญๆ เช่น ในปีหน้าไทยจะถูกอียูตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี)ใน 3 กลุ่มสินค้าใหญ่ (ในกลุ่มอาหาร อัญมณีและเครื่องประดับ จากมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 17.5% ติดต่อกัน 3 ปี) ขณะที่การเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป มีแนวโน้มจะเจรจาไม่เสร็จภายในสิ้นปีนี้ จากไทยมีปัญหาการเมือง ส่วนจีเอสพีสหรัฐฯ ที่ให้กับไทยที่หมดอายุมาตั้งแต่กลางปี 2556 ยังไม่ได้รับการต่ออายุ ซึ่งในทั้ง 2 ตลาดจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยลดลง
ขณะที่ปัญหาการเมืองที่ไร้เสถียรภาพของไทยจะส่งผลทำให้นักลงทุนทั้งไทยและเทศ รอดูทิศทางทางการเมือง มีผลให้ชะลอการลงทุนหรือขยายกำลังการผลิตเพื่อส่งออก ส่วนคู่ค้าก็จะหาผู้ผลิตในประเทศอื่นเพิ่มเติม หรือย้ายคำสั่งซื้อจากไทยเพื่อกระจายความเสี่ยงหากไทยมีปัญหาการเมือง และกระทบต่อการส่งมอบสินค้า
+++บาทอ่อนไม่ได้อานิสงส์
ส่วนนายธนิต โสรัตน์ รองประธานส.อ.ท. มองว่าการส่งออกไทยปี 2557 จะขยายตัวไม่เกิน 5% ทั้งนี้แม้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากสหรัฐฯ ได้ลดมาตรการคิวอีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจลง แต่ก็ยังต้องจับตามองหลังเดือนมกราคม ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะดีขึ้นจริงหรือไม่ ขณะที่ตลาดอียูมองว่าจะยังไม่ฟื้นตัวมาก อย่างไรก็ดีจากการสอบถามผู้ส่งออกที่เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท.ที่ไปออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศช่วงปลายปี 2556 ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คำสั่งซื้อ หรือออร์เดอร์เพื่อส่งมอบช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ได้รับออร์เดอร์น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปี 2556 และเป็นออร์เดอร์ที่ไม่ใหญ่มาก
นอกจากนี้คู่ค้ายังจับตามองสถานการณ์การเมืองไทยอย่างใกล้ชิด โดยในรายที่ขาดความเชื่อมั่นได้เริ่มกระจายออร์เดอร์ไปยังประเทศที่เป็นคู่แข่งขันส่งออกของไทยมากขึ้น เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย เพื่อลดความเสี่ยง ขณะที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องค่าเงินบาท ที่ขณะนี้ได้อ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 32.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาได้อ่อนค่าลงไป 1.7% อย่างไรก็ตามแม้ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงแต่สินค้าไทยก็ไม่ได้รับอานิสงส์ขายได้มากขึ้น เพราะค่าเงินของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นจีน มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ก็อ่อนค่าลงทั้งภูมิภาคทำให้ลูกค้าต่อรองราคาลงอีก
+++แนวโน้มดีแต่ปัจจัยภายในถ่วง
ขณะที่นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออกฯ กล่าวว่า เป้าส่งออก 5% มีความเป็นไปได้ ซึ่งภาพจะเห็นชัดเจนหลังผ่านไตรมาสแรกแล้ว โดยหากพิจารณาในแง่ตลาด คาดตลาดสหรัฐฯ อียู จีน อาเซียน จะขยายตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจ ส่วนตลาดญี่ปุ่นที่รัฐบาลได้ปรับขึ้นภาษีการบริโภคจาก 5% เป็น 8% (คล้ายภาษีแวต) มองว่าจะมีผลทำให้ชาวญี่ปุ่นลดการบริโภค และลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศลง ผลกระทบที่เกิดขึ้นในขณะนี้ผู้นำเข้าญี่ปุ่นได้ขอให้ผู้ส่งออกไทยลดราคาสินค้าลงอีก 3% เพราะการขึ้นภาษีการบริโภคของญี่ปุ่นจากเดิมอีก 3% ผู้นำเข้าอ้างไม่สามารถผลักภาระให้ผู้บริโภคได้ ส่วนในแง่สินค้าตามแนวโน้มตลาดแล้วในกลุ่มสินค้ายานยนต์ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงกลุ่มอาหารซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกกว่า 50% ของภาพรวมการส่งออกไทยมีแนวโน้มการขยายตัวในทิศทางที่ดี
ทั้งนี้การส่งออกของไทยในปี 2557 เฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยจากในประเทศ ที่ขณะนี้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทยลดลง เช่น ค่าแรงที่สูงขึ้น การที่ยังไม่สามารถนำเทคโนโลยี หรือใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ในการผลิตสินค้าเพื่อลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากนัก ข้อกังวลการเมืองไทยจะทำให้ผู้ซื้อเกิดความกังวล และอาจแบ่งออร์เดอร์ไปประเทศอื่นเพื่อลดความเสี่ยง ต้นทุนลอจิสติกส์ที่ยังสูง ซึ่งสิ่งที่ผู้ส่งออกกังวลมากที่สุดคือในอีก 2-3 ปีข้างหน้าไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเกิดจากปัจจัยภายในเป็นหลัก อย่างไรก็ดีการส่งออกไทยในปีนี้มองว่ายังเป็นไปได้ที่ไม่เกิน 5%
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,910 วันที่ 2 - 4 มกราคม พ.ศ. 2557