
ประเด็นสำคัญ
•แนวโน้มนโยบายเศรษฐกิจจีนในปี พ.ศ. 2557 คาดว่ารัฐบาลจีนจะยังคงนโยบายการคลังเชิงประคับประคอง และนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างระมัดระวัง ซึ่งน่าจะช่วยให้จีนประคองอัตราการขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 7.0 – 7.5 (ค่ากลางร้อยละ 7.2)
•ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนน่าจะเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจจีนอย่างต่อเนื่อง หนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพมากขึ้นในระยะยาว โดยการเร่งยกระดับความเป็นเมือง ปรับโครงสร้างภาคการผลิตและผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับต่างชาติมากขึ้น
•แนวโน้มการขยายตัวของจีน น่าจะผลักดันให้การส่งออกของไทยไปยังจีนในปี พ.ศ.2557 ยังสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 3.3 (กรอบประมาณการร้อยละ +0.5 ถึง +7.5) อย่างไรก็ดี ไทยอาจต้องเร่งปรับตัว เพื่อรับแนวโน้มการปรับโครงสร้างการผลิตของจีนสู่เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้น
เศรษฐกิจจีนปี พ.ศ.2556 นับว่าได้ก้าวข้ามความท้าทายหลายประการ ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ไม่ชัดเจน กระทั่งทำให้การส่งออกในไตรมาส 2-3 มีทิศทางไม่สดใสนัก ผนวกกับนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนเอง ซึ่งส่งผลให้การขยายตัวในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนการลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่นลดความร้อนแรงลง อย่างไรก็ดี ด้วยนโยบายการเข้าประคับประคองเศรษฐกิจจีนในช่วงไตรมาสที่ 4 ก็ได้ทำให้เศรษฐกิจจีนเริ่มกลับเข้าสู่จังหวะการขยายตัวที่ดีขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปี ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจจีนในปี พ.ศ.2557 นับว่ามีหลายประเด็นที่ต้องจับตา โดยเฉพาะการผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน หลังจากที่มีการเปิดเผยหลังจากการประชุม Central Economic Work Conference (CEWC) ที่กรุงปักกิ่งระหว่างวันที่ 10 – 13 ธ.ค.2556 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุมด้านเศรษฐกิจประจำปีเพื่อวางแผนนโยบายในปีถัดไป โดยในการนี้ คณะผู้บริหารสูงสุดของจีน (Politburo Standing Committee) ได้มีการสรุปทิศทางนโยบายด้านเศรษฐกิจที่จะบังคับใช้ในปีพ.ศ.2557 ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับกรอบการพัฒนาประเทศที่ได้มีการประกาศหลังการประชุม CPC Central Committee ในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองประเด็นที่น่าสนใจสำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจจีนในปี พ.ศ. 2557 ดังนี้
เป้าหมายเศรษฐกิจปี พ.ศ.2557 ย้ำหลักการสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจระยะยาว
หลังจากการประชุม Central Economic Work Conference (CEWC) ในเดือน ธ.ค.2556 สื่อของรัฐบาลจีนได้มีการเปิดเผยถึงแนวนโยบายสำคัญ 6 ประการ สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจจีนในปี 2557 ดังนี้
นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจจีนปี พ.ศ.2557 จากการประชุม Central Economic Work Conference (CEWC)
1)การสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยการบริหารจัดการให้มีผลผลิตทางการเกษตรเพียงพอบริโภคในประเทศ รวมไปถึงการพัฒนาให้อาหารมีความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค
2)การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาโครงสร้างการผลิตสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้น และแก้ปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินในอุตสาหกรรมบางประเภท
3)การบริหารความเสี่ยงหนี้รัฐบาลท้องถิ่น
4)การผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค
5)การยกระดับมาตรฐานการครองชีพประชาชน โดยการสนับสนุนการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน ส่งเสริมการจ้างงาน และลดช่องว่างรายได้ นอกจากนั้น ยังให้ความสำคัญกับการลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม
6)การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพลวัตเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ผ่านการผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจกรอบต่างๆ
ด้วยแนวทางดังกล่าว เมื่อประกอบกับท่าทีของทางการจีนด้านนโยบายเศรษฐกิจ ที่ได้มีการสื่อสารออกมาตลอดในรอบปีที่ผ่านมา ทำให้สามารถคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจแดนมังกรในปี พ.ศ.2557 ได้ดังนี้
ทางการเร่งยกระดับความเป็นเมือง และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน
ในปี พ.ศ. 2557 คาดว่า ทางการจีนจะมีการเร่งดำเนินหลายมาตรการ เพื่อสร้างเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาค (Urbanization) ผ่านทั้งการวางแผนสร้างคลัสเตอร์เศรษฐกิจในมณฑลตอนกลาง ตะวันตก และตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ขณะเดียวกันเพื่อให้สอดรับกับความต้องการแรงงานที่จะเพิ่มขึ้นในเมืองขนาดกลางและเล็กในพื้นที่ดังกล่าว คาดว่าทางการจะมีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ด้านทะเบียนบ้าน (Hukou) เพื่อให้แรงงานจากเขตชนบทสามารถเข้าไปจดทะเบียนบ้านและรับสวัสดิการสังคมในเขตเมืองขนาดเล็กและกลางในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ในเมืองใหญ่ที่มีระดับการพัฒนาสูงอยู่แล้วจะยังคงมีการควบคุมอย่างเข้มงวดต่อไป เพื่อควบคุมทิศทางของการกระจายความเป็นเมืองสู่พื้นที่ที่ยังต้องการการพัฒนาก่อน นอกจากนั้นคาดว่าทางการจีนจะเดินหน้ายกระดับปัจจัยพื้นฐานที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ อาทิ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน บ้านเอื้ออาทร ที่ดินทำกินและบริการพื้นฐานทางสังคมต่างๆ อาทิ สาธารณูปโภคและโรงพยาบาล รวมไปถึงการเร่งสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหาร เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสม ภายใต้การวางแผนการผลิตให้ได้จำนวนผลผลิตที่เพียงพอแก่ความต้องการตลอดทั้งปี ทั้งนี้ก็เพื่อเสริมสร้างความผาสุกในสังคมและลดแรงกดดันทางสังคมจากแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว
มุ่งบริหารจัดการความเสี่ยงหนี้รัฐบาลท้องถิ่น และปรับโครงสร้างภาคการผลิตของประเทศ
ในปีพ.ศ.2557 รัฐบาลกลางจีนคงมีมาตรการในภาคการเงินออกมา โดยเฉพาะการเข้ามาดูแลและอาจรวมถึงการจัดตั้งระบบกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ให้กับโครงการของรัฐบาลท้องถิ่นอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น รวมทั้งความพยายามเพื่อปรับให้เกิดความสมดุลระหว่างรายรับและรายจ่ายของรัฐบาลท้องถิ่นมากขึ้น โดยการเดินหน้าปฏิรูประบบภาษีเพื่อให้รายได้รัฐบาลท้องถิ่นจากการจัดเก็บภาษีมีเพียงพอต่อการใช้จ่ายในกิจการของรัฐบาลท้องถิ่นเอง ขณะที่ภาครายจ่ายก็น่าจะมีการปรับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เน้นการลงทุนในโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งนอกจากจะช่วยการบริหารกระแสเงินสดของโครงการลงทุนแล้ว ยังช่วยลดปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินที่เกิดกับบางอุตสาหกรรมอีกด้วย นอกจากนี้ความพยายามอีกส่วนหนึ่งของรัฐบาลกลางคือ การปฏิรูปกลไกตลาดและเปิดรับการแข่งขันของเอกชนน่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการแข่งขันของวิสาหกิจของรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งนำไปสู่การผลิตที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและพัฒนาสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้นของภาคอุตสาหกรรมจีนได้ในระยะต่อไป
ผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับนานาชาติ และเปิดเสรีระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
ทิศทางในระยะข้างหน้า จีนมีแนวโน้มมุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ ผ่านการกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศ ซึ่งนอกเหนือจากการสานสัมพันธ์โดยตรงแบบทวิภาคีในระดับรัฐบาลแล้ว จีนน่าจะเดินหน้าผลักดันความตกลงในกรอบต่างๆ ในระดับพหุภาคี โดยเฉพาะ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งก็น่าจะเป็นใบเบิกทางของการออกไปลงทุนในต่างประเทศของวิสาหกิจจีน ตามแนวทางของ ‘Going Out Policy’ รวมถึงการส่งเสริมบทบาทของเงินสกุลหยวนให้มีการใช้กันอย่างกว้างขวางในเวทีโลกต่อไปอีกด้วย
นอกจากนั้น จีนยังมีแนวโน้มมุ่งปรับลดอัตราอากรขาเข้าและค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุนทั้งภายในและเชื่อมโยงกับต่างประเทศ เพื่อให้ธุรกิจเอกชนมีต้นทุนต่ำลงเพื่อส่งเสริมให้เอกชนมีบทบาทมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและส่งเสริมการบริโภคของประชาชน โดยล่าสุดในเดือน ธ.ค.2556 กระทรวงการคลังของจีนประกาศปรับลดอากรขาเข้าชั่วคราวสินค้า 760 รายการลงให้ต่ำกว่าอัตราภาษีที่ให้กับ Most Favored Nations (MFN Rate) เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2557 โดยกลุ่มสินค้ามีการกระจายทั้งในกลุ่มสินค้าเพื่อการบริโภค และวัตถุดิบสำหรับภาคอุตสาหกรรม
ขณะที่อีกความเคลื่อนไหวด้านการเปิดเสรีในปี พ.ศ.2557 ที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เนื่องจากนับเป็นเครื่องมือของทางการจีนในการนำร่องปรับระบบเศรษฐกิจให้เป็นไปตามกลไกตลาด รวมถึงผ่อนผันกฎระเบียบการค้าการลงทุนอย่างรุดหน้ากว่าในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ อันอาจเปิดโอกาสการค้าการลงทุนรวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจในระดับภูมิภาคให้กับนักลงทุนไทยอีกด้วย คือแนวโน้มการทยอยเปิดเขตเสรีการค้า (Free Trade Zone) ขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ในจีน โดยเฉพาะมณฑลแถบชายทะเล หลังจากที่เขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Free Trade Zone) ได้เปิดฉากขึ้นในเดือน พ.ย. 2556 โดยล่าสุด State Council ได้อนุมัติจัดตั้งเขตการค้าเสรีในเขตตงเจียง (Dongjiang) ของนครเทียนจิน (Tianjin) และ Zhoushan Port Integrated Free Trade Zone ของมณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang) แล้ว ขณะที่ในระยะต่อไป คาดว่าจะมีความคืบหน้าของการจัดตั้งเขตการค้าเสรีแห่งอื่นๆ โดยเฉพาะพื้นที่ปากแม่น้ำจูเจียง (Pearl River Delta) มณฑลฝูเจี้ยน (Fujian) และมณฑลยูนนาน (Yunnan) และเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (Guangxi) ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นกำลังเตรียมความพร้อมและกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ State Council

ภาพรวม … คาดรัฐบาลกลางจีนยังคงทิศทางนโยบายเศรษฐกิจ ควบคู่การเดินหน้าปฏิรูป
แม้เป้าหมายของตัวชี้วัดต่างๆทางเศรษฐกิจรวมถึงเป้าหมายอัตราการเติบโตของจีดีพีในปี พ.ศ.2557 ยังไม่ได้รับการเผยแพร่อย่างเป็นทางการ (โดยจะเผยแพร่ในเดือน มี.ค. 2557 ในการประชุม National People’s Congress) อย่างไรก็ดีจากถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อ เฉียง เมื่อเดือน พ.ย.2556 และการประชุม CPC Central Committee ครั้งล่าสุด รวมถึงการประชุม Central Economic Work Conference (CEWC) ที่ผ่านมา สะท้อนสัญญาณว่าจีนยังต้องการรักษาอัตราเติบโตจีดีพีให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 7.2 ต่อปีในระยะข้างหน้า เพื่อรักษาระดับการจ้างงานไว้ให้ได้ตามเป้าและเพื่อให้บรรลุตามแผนระยะยาวในการเพิ่มจีดีพีและรายได้ต่อหัวเป็น 2 เท่าภายในปี ค.ศ.2020 (พ.ศ.2563) จากระดับในปี ค.ศ.2010 (พ.ศ.2553) ทำให้คาดว่าในปี พ.ศ. 2557 รัฐบาลจีนจะยังคงทิศทางนโยบายเศรษฐกิจไว้ใกล้เคียงกับในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี พ.ศ.2556 กล่าวคือการใช้นโยบายการคลังเชิงประคับประคองการขยายตัวและนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างระมัดระวัง ซึ่งน่าจะช่วยให้จีนประคองอัตราการขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 7.0 – 7.5 (ค่ากลางร้อยละ 7.2) ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายขยายตัวที่ร้อยละ 7.5 ในปี พ.ศ.2556
ขณะที่ในปี พ.ศ. 2557 จีนยังคงต้องพยายามก้าวผ่านความท้าทายที่รออยู่ โดยเฉพาะเศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังคงต้องจับตาถึงความแข็งแกร่งของการฟื้นตัวของสหรัฐฯและยุโรป ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อการส่งออกของจีน ขณะที่ประเด็นด้านเสถียรภาพในระบบการเงิน ตลอดจนมาตรการที่ทางการอาจมีออกมาเพื่อปฏิรูปภาคการเงินก็อาจมีผลต่อความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนอยู่บ้าง โดยทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางอาจผ่อนคลายในกรอบที่จำกัดมากขึ้น เพื่อให้ความสำคัญกับการควบคุมสภาพคล่องในระบบและผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ในจีนปรับปรุงรูปแบบและประสิทธิภาพการดำเนินงาน ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้รับการย้ำเตือนจากการที่ธนาคารกลางจีน (PBoC) ได้ชะลอการเข้าเพิ่มสภาพคล่องในตลาดพันธบัตร (OMO) หลายครั้งนับตั้งแต่ 5 ธ.ค.2556 อันเป็นการส่งสัญญาณต่อธนาคารพาณิชย์ว่า PBoC เฝ้าจับตาการดำเนินธุรกิจของธนาคารอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อประกอบกับการที่ธนาคารพาณิชย์ต้องการระดมสภาพคล่องเป็นพิเศษในทุก ช่วงท้ายไตรมาสเพื่อให้บรรลุตามเกณฑ์การกำกับดูแลของ PBoC ผนวกกับการที่ประชาชนต้องการเงินสดเพิ่มขึ้นเพื่อจับจ่ายในช่วงปีใหม่ ทำให้เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา อัตรา 7-day Repurchase Rate (ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสภาพคล่องในตลาดเงิน) พุ่งขึ้นแตะร้อยละ 9.7 ระหว่างช่วงเวลาทำการ ซึ่งสูงสุดในรอบ 6 เดือน ทำให้คาดว่าแม้ในที่สุด PBoC จะเข้ามาช่วยดูแลให้ตลาดผ่านพ้นภาวะสภาพคล่องตึงตัวในครั้งนี้ไปได้ แต่คงปฏิเสธได้ยากว่า ภาวะดังกล่าวนี้อาจกลับมาเกิดขึ้นได้อีกในปี พ.ศ.2557 ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยท้าทายที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
ไทยควรเตรียมพร้อม รับโอกาสและความท้าทายในปี ’57
จากการที่จีนมีนโยบายเดินหน้ามุ่งสู่การเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการบริโภคของประชาชน นับเป็นสัญญาณดีต่อไทยในการร่วมเติบโตไปกับจีนในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ มองว่าในปี พ.ศ.2557 สินค้าไทยที่ส่งออกไปยังจีนน่าจะยังสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 3.3 (กรอบประมาณการร้อยละ +0.5 ถึง +7.5) โดยสินค้าที่น่าจะขยายตัวเป็นบวกได้ ได้แก่ ยางพาราและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ และผลไม้ เนื่องจากยังคงสามารถตอบสนองความต้องการบริโภคในจีนได้ ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมที่ไทยผลิตส่งออกเพื่อสนับสนุนการผลิตขั้นต้นในจีน อาทิ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อาจต้องเร่งปรับตัวเพื่อตอบรับระดับเทคโนโลยีการผลิตในจีนที่สูงขึ้นในระยะอันใกล้ ทั้งยังเป็นการปรับตัวเพื่อสร้างจุดแข็ง ดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวให้ยังคงอยู่ในไทย หลังจากที่เริ่มมีกระแสการโยกย้ายฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติไปยังแหล่ง ผลิตอื่นในอาเซียนที่มีต้นทุนต่ำกว่าบ้างแล้ว รวมถึงสินค้าอื่นๆที่ยังต้องติดตามแนวโน้มการปรับโครงสร้างการผลิตสู่เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้น และกระแสความต้องการของผู้บริโภคในตลาดจีนที่อาจเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งท้าทายผู้ส่งออกไทยด้วย ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรจับทิศทางการเปลี่ยนแปลงนี้เพื่อหาทางปรับตัวได้ อย่างทันท่วงที
ในส่วนของโอกาสการลงทุนจากจีนในปี พ.ศ.2557 อุตสาหกรรมที่จีนมีโอกาสเข้ามาลงทุนในไทย ได้แก่ ยางพาราและผลิตภัณฑ์แปรรูปขั้นต้นเพื่อส่งออกกลับไปยังจีน เพื่อตอบรับความต้องการในจีนที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงอุตสาหกรรมเครื่องจักรก่อสร้าง เครื่องจักรกลการเกษตร และยานยนต์ เช่น การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และชิ้นส่วนเครื่องจักร ซึ่งก็อาจเป็นโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยในการเข้าร่วมสายการผลิตของจีน อย่างไรก็ดี หากมองในระยะยาว แนวโน้มการปรับระดับเทคโนโลยีการผลิตในจีนอาจเป็นความท้าทายต่อไทย โดยผู้ประกอบการไทยที่กำลังมองหาโอกาสเข้าร่วมในสายการผลิตของจีนอาจต้องเร่งศึกษาความต้องการของฝ่ายจีนและพร้อมที่จะปรับระดับเทคโนโลยีการผลิต ให้สามารถตอบสนองความต้องการของคู่ค้าฝ่ายจีนที่อาจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถรักษาตำแหน่งของตนในเครือข่ายการผลิตจีนไว้ได้ในระยะยาว ขณะที่ภาครัฐไทยควรศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ และวางยุทธศาสตร์การยกระดับเทคโนโลยีการผลิตของประเทศไทยให้สูงขึ้น เพื่อรักษาตำแหน่งของไทยในสายการผลิตของจีนไว้ อีกทั้งเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการเป็นฐานรับการลง ทุนที่ใช้ระดับเทคโนโลยีไม่สูงนักด้วย