ผู้ส่งออกลุ้นไทยได้ต่อจีเอสพีสหรัฐฯ หลังหมดอายุต้องเสียภาษีอัตราปกติตั้งแต่ 1 ส.ค. หวั่นผู้นำเข้าแบกภาระไม่ไหว ถอดใจชะลอธุรกิจ ร้องเพลงรอรัฐสภาสหรัฐฯชี้ขาด
ผวามีสมาชิกเสนอตัดจีเอสพีประเทศที่มีการทำเอฟทีเอกับประเทศพัฒนาแล้วซึ่งไทยอยู่ในข่าย จี้รัฐบาลล็อบบี้โอบามาช่วยเหลือ พร้อมเร่งเข้าเป็นสมาชิกทีพีพีชดเชยถูกตัดในระยะยาว นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ ประธานคณะกรรมการความยั่งยืนทางธุรกิจ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"โดยได้แสดงความกังวลต่อกรณีที่โครงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี) ของสหรัฐอเมริกาแก่ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา 131 ประเทศ ซึ่งมีไทยอยู่ในกลุ่มด้วย จากโครงการต่ออายุครั้งที่ 8 (1 ม.ค.54 -31 ก.ค.56) ได้หมดอายุลงเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าที่อยู่ในบัญชีได้รับสิทธิจีเอสพีจากทุกประเทศไปยังสหรัฐฯ ต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ (MFN) เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2556 เป็นต้นไป จนกว่ารัฐสภาสหรัฐฯซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาจะอนุมัติให้ต่ออายุโครงการ
ทั้งนี้ในหลักการเมื่อจีเอสพีหมดอายุ ผู้นำเข้าต้องเสียภาษีในอัตราปกติไปก่อน เมื่อมีการอนุมัติต่ออายุโครงการใหม่เมื่อใดแล้ว ผู้นำเข้าสามารถขอคืนภาษีย้อนหลังได้ อย่างไรก็ดีการที่จีเอสพีหมดอายุได้ก่อให้เกิดความกังวลใจของผู้นำเข้าสหรัฐฯว่าไทยจะไม่ได้ต่ออายุจีเอสพี เพราะล่าสุดมีสมาชิกรัฐสภาคนหนึ่งของสหรัฐฯได้ยื่นข้อเสนอไม่ให้สิทธิจีเอสพีกับประเทศที่มีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะจะมีผลทำให้มีการต่างตอบแทนในเรื่องต่างๆ ของประเทศนั้นๆ กับสหรัฐอเมริกาลดน้อยลง ซึ่งในส่วนของประเทศไทยได้ทำเอฟทีเอกับประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ดังนั้นหากที่ประชุมเห็นชอบตามที่เสนอโอกาสที่ไทยจะถูกตัดสิทธิจีเอสพีก็มี ซึ่งผู้นำเข้าก็จะไม่ได้ภาษีคืน ดังนั้นในช่วงนี้อาจมีผลทำให้ลดการนำเข้าซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ
"วันก่อนในโอกาสที่คุณนีน่า เชนไน ที่ปรึกษาด้านการค้าของสหรัฐฯได้เข้าพบผู้บริหารของกระทรวงพาณิชย์ไทยได้มีการสอบถามว่าไทยจะได้ต่อสิทธิจีเอสพีหรือไม่ เขาบอกว่าเดายาก ถ้าข้อเสนอตกไปก็ได้ต่อ แต่ก็มีความเสี่ยงที่อาจจะไม่ได้ต่อ เพราะในปีที่ผ่านมาเราส่งออกไปสหรัฐฯมูลค่ากว่า 2.27 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนนี้สินค้าพันกว่ารายการของเราได้ใช้สิทธิจีเอสพีส่งออกกว่า 7-8 พันล้านดอลลาร์" นายบัณฑูร กล่าวอีกว่า เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องนี้ รัฐบาลไทยควรล็อบบี้ประธานาธิบดีบารัก โอบามา เพื่อหาทางช่วย และในช่วงจากนี้ไปไทยควรเร่งหาทางเข้าเป็นสมาชิกของความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(ทีพีพี) หรือเอฟทีเอขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันมีสมาชิก 12 ประเทศ ที่มีสหรัฐฯเป็นแกนนำ (อีก 11 ประเทศได้แก่ ชิลี เปรู ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม แคนาดา เม็กซิโก และญี่ปุ่น)
ด้านนายหลักชัย กิตติพล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน)กล่าวว่าในสินค้าผลิตภัณฑ์ยางพาราที่จะได้รับผลกระทบ เช่นถุงมือยางที่ก่อนหน้านี้ได้สิทธิจีเอสพีสหรัฐฯไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า แต่จากจีเอสพีที่หมดอายุต้องเสียภาษีนำเข้า 2-3% ดังนั้นจึงเห็นพ้องที่ไทยต้องเร่งเข้าเป็นสมาชิกของทีพีพี เพื่อได้สิทธิไม่เสียภาษีทดแทนจีเอสพี ขณะที่นายศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หนึ่งในกลุ่มสินค้าที่ใช้สิทธิจีเอสพีส่งออกไปสหรัฐฯ กล่าวว่า ผลจากจีเอสพีสหรัฐฯหมดอายุยังไม่ได้รับเสียงสะท้อนจากสมาชิกถึงผลกระทบซึ่งจะได้ติดตามข้อเท็จจริงต่อไป อนึ่ง กรมการค้าต่างประเทศรายงานช่วง 5 เดือนแรกของปี 2556 ไทยขอใช้สิทธิจีเอสพีส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 1.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สามารถลดหย่อนภาษีนำเข้าได้กว่า 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าที่ใช้สิทธิสูงได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่ม ชุดสายไฟสำหรับรถยนต์ ผลไม้ปรุงแต่ง เลนส์แว่นตา และพัดลม เป็นต้น