จากกรณีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เกี่ยวกับประเด็นปัญหาเรื่องกติกาใหม่ของโลกการค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศไทย
โดยมี 22 อุตสาหกรรมดั้งเดิมที่ขีดความสามารถการแข่งขันลดลง และมีความเสี่ยง
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับ 22 อุตสาหกรรมดังกล่าวที่มีความเสี่ยงพบว่า
กลุ่มอุตสาหกรรม ภายใต้ ส.อ.ท. ที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทย โดยพิจารณาจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มีสินค้าที่นำเข้าจากจีนที่มีมูลค่าการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566 จนถึง เดือนพฤษภาคม 2567 จำนวน 22 กลุ่มอุตสาหกรรม (อ้างอิงกลุ่มอุตสาหกรรมจาก ส.อ.ท.) ประกอบด้วย
เครื่องจักรกลโลหะการ
เครื่องจักรกลการเกษตร
เหล็ก
อลูมิเนียม
หล่อโลหะ
พลาสติก
ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
เฟอร์นิเจอร์
หัตถกรรมสร้างสรรค์
อาหาร
เสริมอาหาร
ต่อเรือซ้อมเรือ
เครื่องนุ่งห่ม
เทคโนโลยีชีวภาพ
แก้วและกระจก
รองเท้า
เครื่องสำอาง
เคมี
แกรนิตและหินอ่อน
เซรามิก
ปูนซิเมนต์
อัญมณี
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังหารือกับนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. และคณะ ว่า ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งในกระบวนการออกใบอนุญาตที่เร็วขึ้น ส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ทำให้ธุรกิจแข็งแรงขึ้น
และสิ่งที่เน้นย้ำ คือ เรื่องของนโยบาย Green Productivity เพื่อตอบโจทย์กติกาโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายที่กระทรวงอุตสาหกรรม จะต้องร่วมมือกับ ส.อ.ท. เพื่อแก้ไขปัญหา
"ได้ให้นโยบายตั้งแต่วันแรกของการรับตำแหน่งว่า ต้องการเห็นกระทรวงอุตสาหกรรมส่งเสริมผู้ประกอบการ และนักลงทุนให้เกิดความคล่องตัว อะไรที่เป็นปัญหาก็ต้องจัดการให้เรียบร้อย"
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า นโยบายบริหารงาน ส.อ.ท. ในช่วงปี 2567 – 2569 ต้องยอมรับว่า จากกติกาใหม่ของโลก รวมถึงข้อตกลงทางการค้า FTA และการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากประเทศจีน ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมดั้งเดิมมาสู่อุตสาหกรรมใหม่ของ 22 อุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างหนัก
นอกจากนี้ยังรวมถึงอุตสาหกรรมที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหามาตรการเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหา โดยเบื้องต้นได้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม โดยมี 4 คณะทำงาน ประกอบด้วย
คณะทำงานยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อนาคต (S-Curve & Industry Transformation) เพื่อสร้างกลไกและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านภาคอุตสาหกรรม สู่ยานยนต์ไฟฟ้าและเครื่องมือแพทย์ ตลอดจนพัฒนาเอสเอ็มอีให้เข้าถึงเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่เหมาะกับกิจการและประเภทอุตสาหกรรม
คณะทำงานการพัฒนาอุตสาหกรรม (Circular Economy และ Climate Change) เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมสีเขียว ร่วมขับเคลื่อนภารกิจ End of Waste พัฒนาระบบและกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการกากอุตสาหกรรม ผลักดันและขับเคลื่อน Circular Material Hub , Circular Economy Model Sandbox ส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยมุ่งสู่ Carbon Neutrality & Climate Change
คณะทำงานอำนวยความสะดวกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในการประกอบกิจการและมาตรฐานของภาคอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจให้กับภาคอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนปรับปรุงผังเมืองทั่วประเทศเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ส่งเสริมและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
คณะทำงานพัฒนาอุตสาหกรรม SMEs เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน