วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า เศรษฐกิจในเดือนพฤษภาคมได้แรงหนุนจากการเติบโตของภาคท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนพฤษภาคมยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัวแม้ชะลอลงบ้างจากเดือนก่อน
นำโดยกิจกรรมในภาคบริการที่ปรับดีขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของทั้งรายรับจากการท่องเที่ยว (+4.1% MoM sa) และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ (+9.2%) ประกอบกับการใช้จ่ายของภาครัฐทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนขยายตัวเร่งสูงขึ้น ภายหลัง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้เมื่อปลายเดือนเมษายน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย (+0.3%) ส่วนการลงทุนภาคเอกชนพลิกกลับมาหดตัวจากเดือนก่อน (-3.0%) เช่นเดียวกับมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำ (-1.7%) และการผลิตภาคอุตสาหกรรม (-0.6%)
จากเครื่องชี้เศรษฐกิจในช่วงสองเดือนแรกของไตรมาส 2 ปีนี้แม้มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวแต่ยังมีความไม่เท่าเทียมกันในแต่ละภาคส่วน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่กดดันภาคการผลิต การลงทุน และการบริโภค โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้การฟื้นตัวส่วนใหญ่ยังได้รับแรงหนุนจากปัจจัยเชิงวัฏจักร (Cyclical factor) ตามการเติบโตของภาคท่องเที่ยวและการเร่งขึ้นของการลงทุนภาครัฐที่จะมีบทบาทมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มเติบโตต่ำท่ามกลางความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง อาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ของแรงงานในภาคการผลิต ซึ่งเป็นปัจจัยลบซ้ำเติมต่อการบริโภคของภาคเอกชนที่ประสบกับปัญหาเชิงโครงสร้างจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
การผลิตภาคอุตสาหกรรมแม้อาจผ่านจุดต่ำสุดแล้วแต่การฟื้นตัวยังเปราะบางเนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้าง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายงานดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคมพลิกกลับมาหดตัวที่ -1.5% YoY ผลจากการผลิตที่ปรับลดลงในอุตสาหกรรมหลัก
อาทิ 1.ยานยนต์ การผลิตหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ตามกำลังซื้อในประเทศชะลอตัว และสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ 2.ชิ้นส่วนและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และ 3.คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ เนื่องจากลูกค้ายังมีสต๊อกสูงจึงชะลอคำสั่งซื้อ ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยอยู่ที่ -2.1%
การกลับมาหดตัวของดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม หลังจากเดือนเมษายนที่ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 19 เดือน ที่ 3.4% สะท้อนถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยแม้อาจผ่านจุดต่ำสุดแล้วแต่การฟื้นตัวยังเปราะบาง ทั้งนี้ ธปท.ชี้ว่าการฟื้นตัวของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมจะไม่เท่ากันเนื่องจากปัจจัยเชิงวัฏจักรและปัจจัยเชิงโครงสร้าง
โดยกลุ่มที่ได้รับผลจากปัจจัยเชิงวัฏจักรมีสัญญาณเชิงบวกตามอุปสงค์ที่ฟื้นตัว อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม ปิโตรเลียม และเครื่องปรับอากาศ
ขณะที่กลุ่มยานยนต์ได้รับผลทั้งจากปัจจัยเชิงวัฏจักรและเชิงโครงสร้าง จากกระแสความต้องการรถยนต์ EV มากขึ้น แต่มีการแข่งขันที่รุนแรง และสำหรับกลุ่มที่มีปัญหาเชิงโครงสร้างคาดว่าจะยังฟื้นตัวได้ช้า อาทิ HDD, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ปิโตรเคมี และเหล็กขั้นมูลฐาน
นอกจากนี้ การฟื้นตัวของแต่ละภาคการผลิตที่ไม่เท่ากันจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของรายได้ของแรงงานในแต่ละกลุ่มต่างกัน โดยในภาคการผลิตมีแรงงานราว 6.3 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 16% ของแรงงานทั้งหมด