วันที่ 1 เมษายน 2567 นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ จัดงานประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 29 พร้อมกับงานครบรอบ 30 ปี พร้อมจัดเสวนาแลกเปลี่ยนประเด็นการส่งออกของไทยยังเป็นเครื่องยนต์หลักของประเทศอยู่หรือไม่
ภายใต้หัวข้อ “Reshaping Export: How to Thrive in Economic Turmoil?” และหัวข้อ “Shaping Thailand’s Sustainable Future: Thai to Global Value Creation” โดยทิศทางการส่งออกยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบและไม่สามารถควบคุมได้จึงต้องเกิดการร่วมมือและผลักดันเพื่อให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม จากการเสวนายังมองว่าการส่งออกของประเทศไทยยังคงเติบโตในอนาคตแต่ต้องมีการปรับตัวให้เร็ว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกและการแข่งขันมาก ดังนั้น สรท. คงคาดการณ์เป้าหมายการทำงานด้านการส่งออกรวมทั้งปี 2567 เติบโตที่ 1-2%
จับตาปัจจัยกระทบส่งออก
การส่งออกของไทยในระยะต่อไปมีข้อควรระวัง ตลอดจนปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบ อาทิ
1) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) จากการแบ่งขั้วอำนาจและการรวมกลุ่มพันธมิตรซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลกรวมถึงผลกระทบต่อการส่งออกไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีโอกาสที่จะทวีความรุนแรงแผ่ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นในแต่ละภูมิภาคของโลก เป็นปัจจัยภายนอกไม่สามารถควบคุมและคาดการณ์ได้
2) ปัญหาโลกเดือด (Global Boiling) จะส่งผลให้ต้นทุนของอุปทานการผลิตสินค้าสูงขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยการผลิตภาคการเกษตรสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งจะทำให้หลายประเทศให้ความสำคัญมากขึ้นกับความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และกำหนดมาตรการที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่นตามมา
3) มาตรการกีดกันทางการค้าและอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measure and Non-Tariff Barrier) โดยเฉพาะการอ้างเหตุผลเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจำเป็นต้องควบคุม จำกัด และร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas: GHG) ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ อาทิ นโยบาย European Green Deal ที่นำมาสู่มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) รวมถึงกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) และ Packaging and Packaging Waste Directive ของสหภาพยุโรป ซึ่งส่งผลให้ประเทศอื่นเริ่มดำเนินมาตรการรูปแบบเดียวกัน
4) บทบาทของประเทศผู้ผลิตเพื่อการส่งออกรายใหญ่ ที่มีข้อได้เปรียบเรื่องของต้นทุนการผลิตที่ต่ำและกดดันราคาในตลาดโลกให้แข่งขันได้ยากมากขึ้น รวมถึงทิศทางการย้ายฐานการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามการค้า และการสร้างพันธมิตรในระดับภูมิภาคเพื่อสร้างความมั่นคงและแต้มต่อในห่วงโซ่การผลิต ทำให้แต่ละประเทศต้องเร่งปรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนในแต่ละประเทศเพื่อรักษาแรงดึงดูดการลงทุนใหม่ที่เน้นเทคโนโลยีเข้าสู่ประเทศและเติมเต็มห่วงโซ่อุปทาน โดยเน้นตอบสนองความต้องการเป็นรายบริษัทหรือรายอุตสาหกรรมให้มากขึ้น
ข้อเสนอแนะดันส่งออก
ทั้งนี้ ให้ข้อเสนอแนะแนวทางการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการส่งออกของไทยในอนาคต เพื่อรับมือกับปัจจัยเสี่ยงข้างต้น ประกอบด้วย
1) ปรับรูปแบบการค้าให้เน้นย้ำถึงหลัก QCD+S (Quality, Cost, Delivery, Sustainability) ผู้ผลิตต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้าและบริการ การควบคุมต้นทุนการผลิตเพื่อสร้างแต้มต่อ การจัดส่งสินค้าที่ตรงตามเวลา และการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนที่ไม่เพียงแต่คำนึงถึงผลตอบแทนหรือกำไรทางธุรกิจ แต่ยังคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญ
2) Green Industry and Human Rights กระบวนการผลิตต้องเน้นย้ำในเรื่องของ 2.1) การใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทน 2.2) พัฒนาระบบ Lean and Green ที่ใช้ทรัพยากรน้อยที่สุดเพื่อให้แข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ โดยต้องดำเนินการตลอดซัพพลายเชนของการส่งออก สามารถตรวจสอบได้ (Traceability) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนและแรงงานอย่างยั่งยืน
3) มาตรการส่งเสริมการลงทุน (Investment Promotion) ได้แก่ 3.1) เร่งปรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อาทิ ระบบสาธารณูปโภค (ด้านน้ำประปา บำบัดน้ำเสีย ไฟฟ้า กำจัดขยะ) ระบบขนส่ง (ถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ทางท่อ) และระบบการสื่อสาร (เครือข่ายโทรศัพท์ สัญญาณอินเตอร์เน็ต) รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ที่ตรงจุด
เพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศและผลักดันการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น 3.2) ส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษเดิม อาทิ EEC พร้อมปรับปรุงสร้างสิทธิประโยชน์ด้าน Innovation และ Sustainability เพื่อตอบโจทย์ตามทิศทางการค้าโลกที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน
4) ผลักการเจรจาการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยมุ่งเน้นประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Market) ที่มีศักยภาพ และเจาะตลาดกลุ่มประเทศขนาดใหญ่ให้มากขึ้น
5) สร้างบุคลากรรุ่นใหม่ให้มีทักษะสอดคล้องกับอุตสาหกรรมใหม่ และมีไอเดียสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการค้า เพื่อส่งเสริมการส่งออกที่มีคุณภาพ ดึงดูดการลงทุน และก่อเกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
6) ยกระดับสร้างขีดความสามารถในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสำหรับส่งออก เนื่องจากดัชนี Global Value Chain Participation Rate ของประเทศไทยเท่ากับ 52% ยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย 68% และเกาหลีใต้ 63% รวมถึงต้องเร่งยกระดับให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการระดับ SMEs ไปพร้อมกัน
7) ยกระดับการทำงานร่วมกันของภาครัฐและเอกชน เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนจากการแข่งขันด้วย Economy of Scale เป็น Economy of Speed ตามทิศทางในปัจจุบันที่ต้องเน้นการทำงานที่รวดเร็ว โดยลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เร่งพัฒนาบุคลากรภาครัฐรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ และทำงานเชิงลึกร่วมกันมากขึ้น เพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจการส่งออกมีจุดยืนที่โดดเด่นบนเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน