ภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่เป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยถูกท้าทายเมื่อผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่อง 18 เดือน โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มี.ค.2567 อยู่ที่ระดับ 104.06 หดตัว 5.13% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 62.39%
ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาส 1 ปี 2567 อยู่ที่ 100.85 หดตัวเฉลี่ย 3.65% และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย 60.45%
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมไทยเผชิญความท้าทายและข้อจำกัดเชิงโครงสร้างที่อาจส่งผลให้การผลิตและการส่งออกฟื้นตัวได้ช้าและไม่ทั่วถึง ซึ่งการส่งออกไทยเดือน มี.ค.2567 มีมูลค่า 24,960 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วหดตัวถึง 10.9%
ขณะที่การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2567 เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วหดตัว 0.2% มูลค่าส่งออก 70,995 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทยอยฟื้นตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 ที่หดตัวถึง 3.3%
ทั้งนี้ ส.อ.ท.พิจารณาสาเหตุหลักที่ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ โดยมีทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ซึ่งปัจจัยภายนอกประกอบด้วย
1. ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กดดันเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะความขัดแย้งในตะวันออกกลาง (อิสราเอล-กลุ่มฮามาส และอิสราเอล-อิหร่าน) และสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ที่ยืดเยื้อและอาจรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจกระทบการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปประเทศที่เป็นคู่ขัดแย้ง
2. สินค้าจีนเข้ามาทุ่มตลาดในอาเซียนและตลาดหลักในภูมิภาคที่เป็นคู่ค้ากับไทย และส่งผลกระทบต่อสินค้าไทย โดยช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวหลายตลาด โดยเฉพาะอาเซียน ตะวันออกกลาง และเอเซียใต้
3. สงครามในเมียนมา ทำให้การค้าชายแดนหดตัวลง การค้าชายแดนช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 มูลค่ารวม 54,734 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วหดตัว 11.21% แบ่งเป็นไทยส่งออก 31,623 ล้านบาท หดตัว 9.57% และไทยนำเข้า 23,110 ล้านบาท หดตัว 13.35%
4. อุปสงค์จากต่างประเทศได้รับแรงกดดันจากประเทศเศรษฐกิจหลักในการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด โดยเฉพาะสหรัฐอาจกดดันเศรษฐกิจและการค้าโลก ซึ่งหลายประเทศต้องติดตามการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ
5.ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีด้านสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) และกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) ของสหภาพยุโรป ซึ่งกระทบภาคอุตสาหกรรมไทย
สินค้าไทยไม่ได้รับความนิยมมากพอ
ส่วนปัจจัยภายในประเทศที่กระทบภาคอุตสาหกรรมไทย แบ่งเป็น
1. สินค้าส่งออกไม่ได้รับความนิยมเหมือนอดีตและมีประเทศคู่แข่งเพิ่มขึ้น รวมถึงสินค้าส่งออกไม่แตกต่างกัน รวมถึงไทยไม่มีสินค้าใหม่ เช่น สินค้ากลุ่มไฮเทคที่ส่งผลให้ไทยถูกแย่งส่วนแบ่งตลาด โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเคมีภัณฑ์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และฮาร์ดดิสก์
2. ต้นทุนการผลิตอยู่ระดับสูงทั้งค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบและราคาน้ำมัน ทำให้ไทยแข่งขันไม่ได้ โดยค่าไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย (งวด พ.ค.-ส.ค.2567) และต้นทุนการเงินอยู่ระดับสูง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) เดือน มี.ค.2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 7.30-7.57% ต่อปี ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินในการประกอบกิจการ