สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.)
ผู้ประกอบการ

ศึกใน-นอกรุมถล่มเศรษฐกิจไทย วิกฤตแล้งทุบภาคเกษตรฉุดกำลังซื้อ
  13/01/2020
ศึกใน-ศึกนอกรุมถล่มซ้ำ ศก.ไทยแต่หัววัน วิกฤตแล้งเขื่อนทั่วประเทศเหลือน้ำใช้ 44% ผู้ว่าแบงก์ชาติเกาะติดปัญหา หวั่นทุบรายได้เกษตร ปม “สหรัฐ-อิหร่าน” กระทบท่องเที่ยว “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ชี้ 2 ปัจจัยเสี่ยงใหม่ทุบซ้ำ คาด Q2 ทรุดหนัก ครม.อนุมัติ 3 พันล้าน ขุดบ่อบาดาล 57 จังหวัด สภาหอฯเตรียมเสนอแก้แล้งระยะยาว กระตุ้นลงทุนดันจีดีพี สร้างความมั่นใจ

ศึกใน-นอกรุมถล่มเศรษฐกิจไทย วิกฤตแล้งทุบภาคเกษตรฉุดกำลังซื้อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่ต้นปี 2563 แม้ว่าจะมีข่าวดีที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเข้าสู่โหมดพักรบ โดยจะมีการเซ็นสัญญาข้อตกลงการค้าเฟสแรกกันในช่วงกลางเดือน ม.ค.นี้ แต่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยกลับต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เข้ามากระทบและกดดันเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี ทั้งปัจจัยภายในประเทศอย่างปัญหา “ภัยแล้ง” ที่รุนแรงตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เหลือใช้การได้ 23% (4,210 ล้านลูกบาศก์เมตร)

ขณะที่ปัจจัยภายนอกอย่างสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและอิหร่าน ที่ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดการตอบโต้รุนแรง จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ออกคำสั่งปฏิบัติการทางการทหารโดยอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ลอบสังหารนายทหารระดับสูงของอิหร่าน “พลตรี คัสเซม โซไลมานี”

ธปท.เกาะติดภัยแล้งใกล้ชิด

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ตอนนี้ ธปท.มีคณะทำงานติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากผลกระทบต่อภาคเกษตรในระยะข้างหน้า แม้ว่าจะมีผลต่อตัวเลขเศรษฐกิจไม่มาก เพราะสัดส่วนภาคเกษตรต่อจีดีพีไม่สูงมาก แต่จะมีผลต่อปัญหาเชิงสังคม โดยเฉพาะคนที่อยู่ในภาคเกษตรมีจำนวนมาก ซึ่งปีนี้ภัยแล้งมาเร็วกว่าทุกปี อาจจะมีผลต่อการปลูกข้าวนาปรัง และรายได้เกษตรกร การบริโภคภาคเอกชนได้ อย่างไรก็ดี ปัจจัยภัยแล้งสะท้อนรวมอยู่ในกรอบการประเมินการบริโภคภาคเอกชนที่ยังมองว่ายังอยู่ในกรอบ 3% โดยหวังว่าฝนน่าจะตกได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ แต่หากปัญหาลากยาวจะเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

กระทบรายได้ท่องเที่ยว

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวเพิ่มเติมถึงความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทขณะนี้ว่า มีความสมดุลมากขึ้น แต่ก็มีปัจจัยจากสถานการณ์สหรัฐและอิหร่านที่เข้ามากระทบ ซึ่งไม่เฉพาะแต่ค่าเงินบาทเท่านั้น แต่ยังกระทบค่าเงินในภูมิภาคด้วย

อย่างไรก็ตาม ระยะหลังเงินบาทเริ่มไม่ได้เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven) ในสายตาของนักลงทุนต่างชาติแล้ว เนื่องจากถ้าพิจารณาค่าเงินบาทเทียบกับเงินสกุลที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยอื่น ๆ จะเห็นว่ามีความต่างกันมาก และนักวิเคราะห์ต่างชาติหลายรายมองเงินบาทควรจะปรับอ่อนค่าลงรวมทั้งการที่ไทยยังพึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวค่อนข้างสูง ซึ่งหากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและอิหร่านมีมากขึ้น ก็จะยิ่งกระทบกับแหล่งรายได้ต่างประเทศที่สำคัญของไทย

“สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่าน เป็นประเด็นที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงาน แต่ในจังหวะนี้ถือเป็นจังหวะที่ดีที่จะนำเข้าเพิ่มมากขึ้น โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากสามารถบริหารจัดการด้านพลังงานสำรองที่มีประสิทธิภาพขึ้น จะช่วยให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลน้อยลง และไทยไม่ได้เป็น safe haven ตั้งแต่ปลายปีก่อน เพราะในช่วงที่ตลาดผันผวน ยากที่จะนำเงินมาพักในไทย”

ศุภวุฒิมอง Q2 ทรุดหนัก

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน ภัทร (KKP) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงปี 2563 ว่า เศรษฐกิจไทยนั้นยังคงไหลลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลเศรษฐกิจเดือน พ.ย.ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยออกมานั้นก็ยังทรุดต่อเนื่องจากเดือน ต.ค. 62แม้ว่าไม่มีปัจจัยเสี่ยงใหม่ก็ยังไม่รู้ว่าจะหยุดไหลลงเมื่อไหร่

กรณีปัญหาภัยแล้งคาดว่าจะเริ่มส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 2/63 ซึ่งข้าวนาปรังทั้ง 3-4 ล้านไร่อาจจะต้องเสียหายทั้งหมด ขณะที่ปกติเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 2 จะแย่อยู่แล้ว เพราะเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวเข้ามาน้อย ดังนั้นไตรมาส 2 ปีนี้ก็น่าจะเป็นจุดต่ำสุด

ขณะที่ก็คาดหวังว่าไตรมาส 3 จะเริ่มเห็นการฟื้นตัว แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะฟื้นจากปัจจัยอะไร ถ้าฟื้นจากส่งออกก็จะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากขึ้น ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เงินบาทแข็งค่ามากขึ้นอีก ก็จะทำให้ปัญหาค่าเงินบาท “ล็อกคอตัวเอง” เพราะปี 2562 ที่ผ่านมาส่งออกติดลบเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นมาเกือบ 8%

สำหรับปัญหาภัยแล้งกระทบต่อตัวเลขเศรษฐกิจไม่มาก ซึ่งฝ่ายวิจัย KKP ประเมินว่ากระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนประมาณ 0.15% และกระทบต่อจีดีพีประมาณ 0.1% แต่จะเป็นปัญหาที่กระทบกับประชาชนในวงกว้าง และส่งจะผลกระทบต่อกำลังซื้อในต่างจังหวัดมากขึ้น

ก่อการร้ายเขย่าเศรษฐกิจโลก

นายศุภวุฒิกล่าวถึงกรณีความตึงเครียดของสหรัฐและอิหร่านว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมองว่า สิ่งที่อิหร่านจะทำคือ แก้แค้น แต่วิธีการของอิหร่านเสี่ยงที่จะเกิดภัยก่อการร้าย เช่น การพุ่งเป้าโจมตีสายการบินสหรัฐ ซึ่งหากลุกลามก็จะทำให้คนอเมริกันไม่กล้าเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งเป้าหมายแท้จริงของอิหร่านมองว่า ต้องการทำให้ “โดนัลด์ ทรัมป์” แพ้การเลือกตั้งในเดือน พ.ย.นี้ รวมทั้งต้องการที่จะให้ทหารสหรัฐถอนทหารออกจากอิรักและตะวันออกกลาง ดังนั้นศึกครั้งนี้ก็จะต้องรุนแรงยืดเยื้อและลากยาวไปถึงเดือน พ.ย. และมีโอกาสที่จะลุกลามกระทบเศรษฐกิจโลก

“สัญญาณเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่เปลี่ยนไป คือ เรารู้ตัวตั้งแต่ต้นปีว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี แต่ปีที่แล้วไม่รู้ว่าจะแย่ คิดว่าจะไปได้ดี”

ภัยแล้งกระทบเป็นลูกโซ่

นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ปีนี้ภัยแล้งถือเป็นปีที่แล้งกว่าทุกปีที่ผ่านมา หากดูจากปริมาณน้ำในเขื่อนต่าง ๆ อย่างไรก็ดี มองว่าภัยแล้งเป็นปัจจัยชั่วคราวตามฤดูกาล ซึ่งเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงเดือน พ.ค. สถานการณ์น่าจะคลี่คลายลง แต่ยอมรับว่าทั้งปัญหาภัยแล้ง และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่าน เป็นปัจจัยในเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทย โดยภาครัฐควรเตรียมและรับมือ คือเรื่องของภาคการบริโภค เพราะการใช้จ่ายจะลดลงและโดนกระทบเป็นลูกโซ่จากภัยแล้ง ซึ่งในระยะสั้นจำเป็นต้องเยียวยาผ่านการปล่อยสินเชื่อและผ่อนปรนการชำระหนี้ให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดเงิน ตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กรณีประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งจะพบว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสนั้น ๆ จะชะลอตัวลงทันทีราว 0.3-0.5% อย่างไรก็ดี สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นครั้งนี้มองว่า ภาครัฐได้เล็งเห็นมาสักพักแล้ว และมีการจัดเตรียมงบประมาณช่วยเหลือ หากภาครัฐสามารถบริหารจัดการได้ดี มีประสิทธิภาพ และหยิบนำมาเป็นประเด็นวาระแห่งชาติจะช่วยให้ตัวเลขการบริโภคไม่ตกลงมากนัก

3 พันล้าน ขุดบาดาล 57 จว.

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 7 มกราคม 2563 อนุมัติงบฯกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2562 ไปพลางก่อน เพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ภัยแล้ง ปี 2562/2563 ระยะเร่งด่วน 3,079.49 ล้านบาท จากวงเงินคำขอทั้งหมด 6,029 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ 57 จังหวัด 2,041 โครงการ 5 หน่วยงาน ได้แก่ ขุดเจาะบ่อบาดาล 1,100 โครงการ จัดหาแหล่งน้ำผิวดิน 230 โครงการ ซ่อมแซมระบบน้ำประปา 654 โครงการ โรงพยาบาล 157 โครงการ ต้องเสร็จสิ้นภายใน 120 วัน

“บิ๊กตู่” ประธานศูนย์แก้วิกฤต

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบกรอบโครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ปัญหาวิกฤตภัยแล้ง 3 ระดับ ระดับที่ 1 ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ มีเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธาน ระดับที่ 2 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯเป็นประธาน ระดับ 3 หรือระดับวิกฤต ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหมเป็นประธาน

ทั้งนี้ ในปัจจุบันสถานการณ์ภัยแล้งยังอยู่ในระดับ 2 อย่างไรก็ดี มาตรา 24 ตาม พ.ร.บ.น้ำ ให้มีศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ได้ทัน โดยนายกฯมีข้อสั่งการ ซึ่งถือเป็นมติ ครม.ให้ทุกกระทรวงนำไปปฏิบัติ โดยให้ สทนช.จัดลำดับโครงการที่มีความพร้อมเพื่อดำเนินการเร่งด่วน และประกาศภัยแล้งเป็นวาระแห่งชาติ

ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังติดตามปัญหาภัยแล้งอย่างใกล้ชิด และพร้อมออกมาตรการเฉพาะหน้ามาดูแล เนื่องจากภัยแล้งเกี่ยวข้องยึดโยงถึงการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานราก เรื่องเฉพาะหน้าของปี 2563 ได้มอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เร่งศึกษาเตรียมออกมาตรการดูแล เช่น การออกสินเชื่อสนับสนุนเกษตรกรเมื่อประสบภัยแล้ง การออกสินเชื่อพิเศษ หรือการผ่อนคลายเงินกู้ เป็นต้น

น้ำ 4 เขื่อนหลักเหลือ 23%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “กรมชลประทาน” รายงานสถานการณ์น้ำล่าสุด วันที่ 7 ม.ค. 63 ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 22,721 ล้าน ลบ.ม. หรือ 44% ของปริมาณน้ำใช้การได้ โดย 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำใช้การได้รวม 4,210 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 23%

ทั้งนี้ กรมได้บริหารจัดการน้ำตามแผนจัดสรรน้ำช่วงแล้ง ตั้งแต่ 1 พ.ย. 62-30 เม.ย. 63 โดยสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทาน มีปริมาณน้ำจัดสรรจากอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศรวม 17,699 ล้าน ลบ.ม. ลดลงจากปีที่แล้ว 7,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำจัดสรรรวม 4,000 ล้าน ลบ.ม. ถึงปัจจุบันระบายน้ำไปแล้ว 5,959 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 34 ของแผน โดยเฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาจัดสรรแล้ว 1,838.57 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 46 ของแผน โดยการปลูกพืชฤดูแล้งตามแผนปีนี้ มี 6.85 ล้านไร่ เป็นข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.52 ล้านไร่ และพืชอื่น ๆ 4.01 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีการเพาะปลูกเนื่องจากน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอ

อลหม่านจีดีพีเกษตร

ขณะที่นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ภาพรวมสถานการณ์น้ำค่อนข้างน่ากังวลว่าจะทำให้ผลผลิตข้าวและผลไม้ปรับลดลง แต่ สศก.ยังคงเป้าทิศทางภาวะเศรษฐกิจการเกษตร (จีดีพีภาคเกษตร) ปี 2563 จะขยายตัว 2.0-3.0% จากราคาสินค้าเกษตรหลายรายการสูงขึ้น และล่าสุดกระทรวงได้ประชุมผู้บริหารเร่งด่วน (7 ม.ค.) สั่งการให้ สศก.กำชับทุกหน่วยงานกำหนดแผนปฏิบัติการช่วยเกษตรกรลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ โดยปลูกพืชน้ำน้อยและสนับสนุนเลี้ยงโค รวมถึงเพิ่มมาตรการเชิงรุกในการสำรวจหาพื้นที่เหมาะสมเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ

“สถานการณ์อิหร่านอาจเป็นแพนิคที่ทั่วโลกจับตาส่งผลให้เกิดความต้องการอาหาร ระยะสั้นไม่น่าส่งผลมากนัก แต่เร็ว ๆ นี้จะมีการหารือร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมรับมือ เบื้องต้นจะยกเคสอ่าวเปอร์เซียที่ผ่านมาเป็นแผนรองรับ รวมถึงล่าสุดเบร็กซิตที่มีการกำหนดโควตาส่งออกไก่ใหม่อีกด้วย จึงต้องประเมินให้พร้อมทุกสถานการณ์”

สวนทางกับนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่มองว่า ปีนี้จีดีพีเกษตรมีโอกาส “ติดลบ” ต่อเนื่องจากปีก่อน เพราะราคาสินค้าเกษตรหลายตัวลดลง มาตรการแก้ไขปัญหาหลายด้านออกมาช้า ภาคเกษตรคาดหวังว่าจะมีการออกมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะยาว เพื่อปฏิรูปโครงสร้างภาคเกษตร ซึ่งสภาพร้อมจะร่วมมือ

สภาหอฯชงแก้ปัญหาระยะยาว

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ซึ่งมีนายกฯเป็นประธานครั้งต่อไปภายใน ม.ค.นี้ ภาคเอกชนจะเสนอรัฐบาลวางมาตรการและแผนปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว ต้องประเมินว่าจะมีโซลูชั่นใดบ้างในการแก้ไขปัญหา เช่น การสร้างแก้มลิง วางแนวท่อ หรือการแปลงน้ำเค็มมาใช้ แนวทางใดที่สามารถดำเนินการได้ทันทีก็ต้องดำเนินการทันที เพราะไม่เพียงจะเป็นการแก้ปัญหาให้ภาคเกษตร แต่ยังจะช่วยสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนที่เตรียมขยายการลงทุน และกระตุ้นการเบิกจ่ายงบฯปี 2563 ซึ่งทั้งนี้ ภาคเอกชนมองว่าการลงทุนของภาครัฐ ร่วมกับการลงทุนของเอกชนที่ยื่นขอรับการส่งเสริมบีโอไอไว้ในปลายปีก่อน จะเกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจนปีนี้ และปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยวจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวใกล้เคียงกับปี 2562 ที่ 3%

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หากประเมินในภาพรวมทั้งรายได้จากการท่องเที่ยวในบางแหล่งท่องเที่ยวจะลดลง รวมถึงการผลิตในอุตสาหกรรมและเกษตร เบื้องต้นคาดว่าจะเสียหายรวม 5,000-10,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้เป็นเพียงการคาดการณ์ว่าจะเกิดภัยแล้ง แต่ยังไม่ได้เกิด และภาครัฐได้ดำเนินมาตรการเตรียมพร้อมหลายด้าน ประเมินเบื้องต้นตามข้อมูลของ สทนช.ที่ระบุว่าพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 3.8 ล้านไร่ หากเสียหายไม่ได้ผลผลิตเลย เท่ากับข้าวหายไป 1 ล้านตันข้าวเปลือก มูลค่า 8,000 ล้านบาท แต่หากปลูกและเก็บเกี่ยวได้บ้างจะเสียหายลดลง

ส่งออกหวั่นกระทบวัตถุดิบ

นางสาวกัญญาภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ที่จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรไปจนถึงช่วงเดือนพฤษภาคมของปีนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ที่จะได้รับผลกระทบหนัก คาดว่าสินค้าข้าว อ้อย รวมถึงผลไม้จะลดลง อาจทำให้บางอุตสาหกรรมมีปริมาณวัตถุดิบไม่เพียงพอต่อการผลิตเพื่อการส่งออก ซ้ำเติมปัญหาค่าบาทแข็ง และปัจจัยจากภัยนอกทั้งสงครามการค้า เหตุการณ์ความตึงเครียดในหลายประเทศ คาดการส่งออกปี 2563 ขยายตัว 0-1% มูลค่า 245,296 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าหลุด 30 ไปอยู่ในระดับต่ำ 28.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ก็มีโอกาสส่งออกไทยทั้งปีจะติดลบ 5%

ดึงน้ำรีไซเคิลช่วยภาคเกษตร

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ในเดือน ม.ค.นี้ กรมจะออกประกาศขอความร่วมมือให้โรงงานอุตสาหกรรมที่นำน้ำที่บำบัดและเหลือใช้ภายในโรงงานไปช่วยภาคการเกษตร โดยกำหนดเงื่อนไข ปริมาณน้ำ ค่าความสะอาด ค่าความปลอดภัยที่ไม่มีสารปนเปื้อนอันตรายกับสิ่งแวดล้อมและร่างกาย โดยมาตรการดังกล่าวเคยใช้เมื่อปี 2559 ช่วงวิกฤตภัยแล้งเช่นกัน

บุรีรัมย์เล็งชง ครม.ทำฝายกั้นน้ำ

สำหรับต่างจังหวัด นายณัชอิสร์ ศรีสุขพรชัย ประธานหอการค้าจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า จังหวัดบุรีรัมย์ประสบปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว ซึ่งได้เตรียมความพร้อมรับมือโดยผันน้ำจากเหมืองหิน และจากลำปะเทีย คาดว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่สามารถแก้วิกฤตในครั้งนี้ได้ รวมถึงมีการขุดลอกอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง คือ ห้วยตลาด และห้วยจระเข้มาก ให้มีความกว้างและลึกขึ้น เพื่อที่จะสามารถรองรับน้ำได้มากขึ้นในช่วงฤดูฝน

นอกจากนี้ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ช่วยกันประหยัดน้ำ รวมถึงห้ามทำนาปรัง โดยในการประชุม กรอ.จังหวัด ภาคเอกชนได้เสนอให้มีการจัดทำโครงการฝายกั้นน้ำ ซึ่งจะมีการเสนอในที่ประชุม ครม.สัญจร อีสานตอนล่าง 1 เร็ว ๆ นี้

อุตฯขอนแก่นปรับไลน์ผลิต

นายกมลพงศ์ สงวนตระกูล ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งจังหวัดขอนแก่น ขณะนี้หนักที่สุดในพื้นที่เขื่อนอุบลรัตน์ ถัดมาน่าจะเป็นพื้นที่บริเวณน้ำพอง น้ำชีที่มีความเสี่ยง การแก้ปัญหาระยะยาวคงต้องแก้ที่ระบบชลประทานและระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ต้องทำจุดรับน้ำ แก้มลิง รวมถึงโครงสร้างทางน้ำในภาคอีสาน และการบริหารน้ำตั้งแต่ต้นน้ำโขง ที่เรียกว่าอยู่ในขั้นเจรจาทางการทูตว่าจะแก้ไขอย่างไร เพราะกระทบทั้งระบบนิเวศ ส่วนระยะสั้น คือ 1.ต้องสร้างการรับรู้เกี่ยวกับภัยแล้ง ประหยัดน้ำทั้งเพื่ออุปโภคบริโภค 2.ทำความเข้าใจกับภาคการเกษตรให้ใช้น้ำลดลง

ที่มาของข่าว: ประชาชาติธุรกิจ
เวิลด์แบงก์ชี้ “จุดอ่อน” ประเทศไทย ทำให้ล้าหลังกว่าใครในอาเซียน
    แม้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 นี้ จะมีแนวโน้มขยายตัวมากกว่าปีที่ผ่านมา ที่ขยายตัวเพียง 1.9% ...
  18/04/2024

จีนเผยการผลิตอุตสาหกรรม-ยอดค้าปลีกเดือนมี.ค.ต่ำกว่าคาด,อัตราว่างงานลดลงแตะ 5.2%
    จีนเผยการผลิตอุตสาหกรรม-ยอดค้าปลีกเดือนมี.ค.ต่ำกว่าคาด,อัตราว่างงานลดลงแตะ 5.2%
  17/04/2024

เฟดเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนมี.ค. 67 เทียบรายเดือน
    เฟดเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนมี.ค. 67 เทียบรายเดือน
  17/04/2024

"ส.อ.ท." จี้รัฐปรับโครงสร้างต้นทุนผลิต รักษาขีดความสามารถแข่งขันภาคอุตฯ
    "ส.อ.ท." จี้รัฐปรับโครงสร้างต้นทุนผลิต รักษาขีดความสามารถแข่งขันภาคอุตฯ ...
  10/04/2024


ข่าวเศรษฐกิจอื่นๆ
"เยลเลน" เริ่มประชุมกับจนท.จีน เรียกร้องเร่งแก้ปัญหาการผลิตมากเกินไป - 09/04/2024
"เยลเลน" เริ่มประชุมกับจนท.จีน เรียกร้องเร่งแก้ปัญหาการผลิตมากเกินไป
"เยลเลน" แนะสหรัฐทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันจีนคุกคามภาคอุตสาหกรรม - 05/04/2024
"เยลเลน" แนะสหรัฐทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันจีนคุกคามภาคอุตสาหกรรม
"เยลเลน" เตรียมเยือนจีนสัปดาห์นี้ เล็งถกปัญหาจีนผลิตมากเกินไปจนกระทบศก.โลก - 04/04/2024
"เยลเลน" เตรียมเยือนจีนสัปดาห์นี้ เล็งถกปัญหาจีนผลิตมากเกินไปจนกระทบศก.โลก
นายกฯ เผย เตรียมหารือปรับค่าจ้างขั้นต่ำในภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง - 03/04/2024
นายกฯ เผย เตรียมหารือปรับค่าจ้างขั้นต่ำในภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง
เปิดปัจจัยกระทบส่งออกไทย ปี 2567 โตแค่ 1-2% - 02/04/2024
สรท. จัดงานครบรอบ 30 ปี พร้อมเปิดปัจจัยท้าทายการส่งออกไทยในปี 2567 พร้อม ชูนโยบายสู่ชาติการค้า (Trading Nation) ปรับฉากทัศน์ส่งออกเพื่อความมั่นคงและยั่งยืน เป้าหมายส่งออกยังมอง 1-2%
เกาหลีใต้ส่งออกเพิ่มขึ้นติดต่อกันเดือนที่ 6 อานิสงส์การส่งออกชิปแข็งแกร่ง - 02/04/2024
เกาหลีใต้ส่งออกเพิ่มขึ้นติดต่อกันเดือนที่ 6 อานิสงส์การส่งออกชิปแข็งแกร่ง
ญี่ปุ่นเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเบื้องต้นเดือนก.พ.ลดลง 0.1% เทียบรายเดือน - 01/04/2024
ญี่ปุ่นเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเบื้องต้นเดือนก.พ.ลดลง 0.1% เทียบรายเดือน
เวียดนามเผยดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม +6.18% ใน Q1/67 - 01/04/2024
เวียดนามเผยดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม +6.18% ใน Q1/67
สหรัฐเดินหน้าสกัดอุตฯชิปจีน อัปเดตมาตรการคุมส่งออกชิป AI-เครื่องมือผลิตชิป - 01/04/2024
สหรัฐเดินหน้าสกัดอุตฯชิปจีน อัปเดตมาตรการคุมส่งออกชิป AI-เครื่องมือผลิตชิป
“ภูมิธรรม” หารือทูตสวิส ย้ำความสัมพันธ์ใกล้ชิดทุกด้าน เร่งผลักดันเจรจา FTA ไทย-เอฟตา(EFTA) ให้สรุปผลปีนี้ - 15/03/2024
“ภูมิธรรม” หารือทูตสวิส ย้ำความสัมพันธ์ใกล้ชิดทุกด้าน เร่งผลักดันเจรจา FTA ไทย-เอฟตา(EFTA) ให้สรุปผลปีนี้
สนค.ชู 8 แนวทางหนุน EV ไทยขึ้นแถวหน้าในอาเซียน - 15/03/2024
สนค.ชู 8 แนวทางหนุน EV ไทยขึ้นแถวหน้าในอาเซียน
ส.อ.ท.เรียกร้อง กนง.ลดดอกเบี้ยด่วน-ตรึงดีเซล-LPG ลดต้นทุนภาคธุรกิจ-ครัวเรือน - 15/03/2024
ส.อ.ท.เรียกร้อง กนง.ลดดอกเบี้ยด่วน-ตรึงดีเซล-LPG ลดต้นทุนภาคธุรกิจ-ครัวเรือน
จีนเตือนสหรัฐคว่ำบาตรถ่านหินรัสเซียเสี่ยงทำราคาพุ่ง - 15/03/2024
จีนเตือนสหรัฐคว่ำบาตรถ่านหินรัสเซียเสี่ยงทำราคาพุ่ง
กระแส EV แผ่ว แบรนด์รถยนต์เริ่มลดการผลิต หั่นยอดขาย หันกลับมาเสนอรถดั้งเดิม-ไฮบริด - 15/03/2024
กระแส EV แผ่ว แบรนด์รถยนต์เริ่มลดการผลิต หั่นยอดขาย หันกลับมาเสนอรถดั้งเดิม-ไฮบริด
มาเลเซียเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค.โต 4.3% เหนือคาดการณ์ - 14/03/2024
มาเลเซียเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค.โต 4.3% เหนือคาดการณ์
เอชเอสบีซีเผยผลวิจัย "ประเทศไทยกับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า" - 14/03/2024
Fast & Furious 2.0?: อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไทยมีโอกาสเติบโต "เร็วและแรง" เหมือนในอดีตหรือไม่?
ส.อ.ท. ชง 4 ข้อเสนอถึงภาครัฐ หนุนไทยสู่ฮับผลิตเอทานอล - 14/03/2024
ส.อ.ท. ชง 4 ข้อเสนอถึงภาครัฐ หนุนไทยสู่ฮับผลิตเอทานอล
'พิมพ์ภัทรา' เร่งไทยผู้นำอีวี คงท็อป10 ยานยนต์ ปลุกเสือตื่นผงาดเวทีโลก - 08/03/2024
"พิมพ์ภัทรา" เร่งไทยสู่ผู้นำยานยนต์ไฟฟ้า คงท็อป10 ยานยนต์โลก กระตุ้นเสือตื่นกลับมาผงาด ชี้โอกาสทำอีวีเชิงพาณิชย์ เหตุผู้เล่นยังน้อย
เอกชน เชื่อรถสันดาปยังไม่ถึงทางตัน ชี้กระแส EV สร้าง "โอกาส" มากกว่า "วิกฤต" - 08/03/2024
เอกชน เชื่อรถสันดาปยังไม่ถึงทางตัน ชี้กระแส EV สร้าง "โอกาส" มากกว่า "วิกฤต"
'กกร.' ชี้เศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอ หวังงบเบิกจ่ายปี 67 แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน - 07/03/2024
"กกร." เผย เศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอจากหลายปัจจัย ส่งออกยังไม่ฟื้นตัว หนี้ครัวเรือนพุ่ง หวังงบรายจ่ายภาครัฐปี 67 แล้วเสร็จกระตุ้นการใช้จ่าย เกิดการจ้างงานมีรายได้เพิ่มกำลังซื้อ เพิ่มตัวเลือกการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ฝากรัฐบาลคุมเข้มผักผลไม้นำเข้าที่ไม่ได้รับมาตรฐาน
|<  <  >  >| หน้าที่     จากทั้งหมด 127 หน้า: จำนวนทั้งหมด 2524 ข้อมูล

ข่าวในหมวดอื่นๆ
ข่าวอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ข่าวเศรษฐกิจ
ข่าว FTA ข่าว BOI

+ แผนผังเว็บไซต์ แผนผังเว็บไซต์

ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล
สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย


อาคารสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา ชั้น 1-2
ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 แขวงพระโขนง
เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110 (แผนที่)
โทรศัพท์ 02-7136290-2, 02-713-6547-50, 02-7124402-7 ต่อ 211-213


ภายใต้งบประมาณการสนับสนุน
จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
Copyright © 2015 Iron and Steel Institute of Thailand.